พัฒนาการของโครงการจ้างผลิตและจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ ๓

ข่าวต่างประเทศ Monday July 15, 2019 15:30 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. กระทรวงการต่างประเทศได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับพัฒนาการของโครงการจ้างผลิตและจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ ๓ โดยมีผู้ที่เข้าร่วมการแถลงข่าว ได้แก่ (๑) นายภาสกร ศิริยะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ประธานคณะกรรมการกำหนดราคากลาง สำหรับโครงการฯ ระยะที่ ๓ (๒) นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับโครงการฯ ระยะที่ ๓ (๓) นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล ประธานคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะและกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) สำหรับโครงการฯ ระยะที่ ๓ (๔) นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการ TOR (๕) นายวิจักขณ์ ชิตรัตน์ อดีตเอกอัครราชทูต และหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอโครงการฯ ระยะที่ ๓ (๖) นายสัณห์ อรุณรักษ์ติชัย เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ฯ และ (๗) ดร.ปิยะ ถิรพันธุ์เมธี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และคณะทำงานจัดการสาธิตและทดสอบเปรียบเทียบสมรรถนะของระบบฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. ในโครงการฯ ระยะที่ ๓ กระทรวงการต่างประเทศมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาการบริการประชาชนให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตหนังสือเดินทาง เพื่อให้การปลอมแปลงกระทำได้ยากขึ้น และลดโอกาสในการนำหนังสือเดินทางไปใช้โดยมิชอบ โดยผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปศึกษาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practices) ในการผลิตและให้บริการหนังสือเดินทางจากประเทศต่าง ๆ และนำมาประยุกต์ใช้ในโครงการฯ ระยะที่ ๓ ด้วย

๒. การให้บริการและกระบวนการผลิตหนังสือเดินทางในโครงการฯ ระยะที่ ๓ จะมีการปรับปรุงในหลายด้านเพื่อพัฒนาการให้บริการงานหนังสือเดินทางแก่ประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ (๑) การลดเวลารับคำร้องจากไม่เกิน ๒๐ นาที เป็นไม่เกิน ๑๒ นาที (๒) การเพิ่มจำนวนชุดอุปกรณ์ให้บริการจากเดิม ๓๑๓ ชุดเป็น ๕๐๐ ชุด ซึ่งจะส่งผลให้สามารถเพิ่มช่องรับคำร้องในสำนักงานหนังสือเดินทางที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันและเปิดสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน ๑๕ แห่ง (๓) การลดระยะเวลาที่ใช้ในการผลิตเล่มหนังสือเดินทางจาก ๒ วันเหลือเพียง ๑ วัน (๔) การเพิ่มอายุหนังสือเดินทางจากเดิม ๕ ปี เป็น ๑๐ ปี เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ขอทำหนังสือเดินทางที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (๕) การเก็บข้อมูลม่านตาเพิ่มเติมจากเดิมที่เก็บเพียงใบหน้าและลายนิ้วมือ ซึ่งจะนำมาใช้ประกอบการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลได้ในอนาคต และ (๖) การเพิ่มคุณลักษณะด้านความปลอดภัยจากหนังสือเดินทางปัจจุบัน เพื่อป้องกันการปลอมแปลง

๓. กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประกวดราคาโครงการฯ ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๖๑ ผลปรากฎมีผู้ผ่านคุณสมบัติตาม TOR เพียง ๑ ราย กระทรวงฯ จึงได้ประกาศยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว เนื่องจากขัดกับ ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่เกี่ยวข้อง ต่อมาได้จัดการประกวดราคาครั้งที่ ๒ ซึ่งผลปรากฎว่ากลุ่มกิจการค้าร่วมDGM เป็นผู้ชนะการประกวดราคา อย่างไรก็ดี หลังการประกาศผลการประกวดราคา ได้มีการยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นด้วยกับข้ออุทธรณ์และเสนอเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนพิจารณาตามขั้นตอน โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ได้พิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับข้ออุทธรณ์เช่นกัน และเห็นควรให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการต่อไปได้ กระทรวงการต่างประเทศและกลุ่มกิจการค้าร่วม DGM จึงได้ลงนามในสัญญาแล้ว ขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการขึ้นโครงการซึ่งตาม TOR จะมีเวลาเตรียมการ ๙ เดือนก่อนเริ่มให้บริการ

๔. ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศใช้เกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance) ในการคัดเลือกผู้ชนะการประกวดราคา โดยให้คะแนนสัดส่วนราคาร้อยละ ๔๐ และเกณฑ์ประสิทธิภาพ ร้อยละ ๖๐ ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ชนะประกวดราคา ทั้งนี้ ได้จัดการสาธิตและทดสอบสมรรถนะของระบบ (demonstration and benchmark test) เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๒ เพื่อใหัมั่นใจว่าผู้ชนะการประกวดราคามีศักยภาพที่จะดำเนินโครงการฯ อย่างมีประสิทธิภาพ

๕. กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยราชการภายนอกและสถาบันการศึกษาร่วมในคณะกรรมการและคณะทำงานต่างๆ ประมาณ ๒๐ คน นอกจากนี้ โครงการยังได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง และมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เข้าร่วมด้วยในทุกขั้นตอน

๖. ส่วนเรื่องข้อกำหนดใน TORให้มีการสร้างภาพเสมือนภาพจริงด้วยเลเซอร์เป็นรูปใบหน้าของผู้ถือหนังสือเดินทางในหน้าข้อมูลนั้น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในเอกสารอ้างอิง ๙๓๐๓ เพียงเสนอแนะให้มี “additional image portrait(s)” ซึ่งเป็นการกำหนดอย่างกว้างและมิได้กำหนดวิธีการสร้างภาพเสมือน เพื่อมิให้เป็นการชี้นำว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีใด โดยหนังสือเดินทางไทยในปัจจุบันใช้Image Perforation ซึ่งการประกวดราคาครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้กำหนดรูปแบบเทคโนโลยีเนื่องจากต้องการเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันในส่วนของกลุ่มกิจการค้าร่วม DGM ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคา ได้เสนอให้ใช้ระบบ Window Lock ซึ่งปัจจุบันฟินแลนด์ และสิงคโปร์ได้นำมาใช้แล้ว นอกจากนี้ มีอีกหลายประเทศที่จะนำระบบนี้มาใช้ แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้เนื่องจากข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ