กระทรวงการต่างประเทศชูบทบาทการเป็นสะพานเชื่อมของการทูตพหุภาคี โดยเสริมสร้างโอกาสและศักยภาพในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในการทำธุรกิจกับสหประชาชาติ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday December 22, 2020 13:28 —กระทรวงการต่างประเทศ

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำบทบาทการเป็นสะพานเชื่อมไทยสู่โลก และเชื่อมโลกสู่ไทย รวมทั้งขยายตลาดทางธุรกิจของภาคเอกชนไทยโดยการเป็นคู่ค้ากับสหประชาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันการฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย ในงานสัมมนาลู่ทางและโอกาสทางธุรกิจกับสหประชาชาติ ครั้งที่ ๒ จัดโดยกรมองค์การระหว่างประเทศร่วมกับ UNESCAP

นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำเจตนารมณ์ของกระทรวงการต่างประเทศในการเชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมโลกสู่ไทย โดยใช้การทูตพหุภาคีเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างโอกาสและลู่ทางการดำเนินธุรกิจกับสหประชาชาติให้ผู้ประกอบการไทย ในการสัมมนาลู่ทางและโอกาสทางธุรกิจกับสหประชาชาติ ครั้งที่ ๒ ภายใต้หัวข้อ ?กลยุทธ์สู่ความสำเร็จพิชิตการทำธุรกิจกับยูเอ็น? ซึ่งมีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนหลากหลายสาขา รวมทั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม อาทิ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กรมการพัฒนาชุมชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมไทย เข้าร่วม

การสัมมนาฯ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ช่วยต่อยอดความพยายามของกระทรวงการต่างประเทศในการเป็นสะพานเชื่อมประเทศไทยสู่โลกและแรงขับเคลื่อน (driving force) ของการส่งเสริมวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีคนเป็นศูนย์กลาง โดยเสริมสร้างลู่ทางและโอกาสในการทำธุรกิจกับสหประชาชาติซึ่งมีสำนักงานทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเน้นเปลี่ยนความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาศักยภาพและแสวงหาตลาดสินค้าและบริการใหม่ โดยเฉพาะโอกาสในการนำเสนอสินค้าและบริการสำหรับโครงการก่อสร้างเพื่อให้อาคารของ ESCAP สามารถรับมือความสะเทือนจากแผ่นดินไหว (Seismic mitigation retrofit and life-cycle replacements - SMP) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี ๒๕๖๔ และเสร็จสิ้นโครงการในปี ๒๕๖๖

ทั้งนี้ นอกจากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการจัดซื้อจัดจ้างของสหประชาชาติและสาขาสินค้าและบริการที่สหประชาชาติให้ความสำคัญโดยฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างของ UNESCAP รวมทั้งแนะนำวิธีลงทะเบียนเป็นผู้ค้าในระบบจัดซื้อจัดจ้างของสหประชาชาติ หรือ United Nations Global Marketplace (www.ungm.org) แล้ว การสัมมนาฯ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจำนวน ๔๐ ราย ที่เข้าร่วมงานฯ และผู้รับชมผ่าน Facebook Live กว่า ๗๐๐ ราย รับฟังประสบการณ์ตรงและเทคนิคในการทำงานและเป็นคู่ค้ากับสหประชาชาติจากหลากหลายแง่มุม โดย ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ แบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการร่วมมือกับสหประชาชาติในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ในขณะที่ น.ส. ศิริธร ไวรัชพานิช ผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้มุมมองเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือไตรภาคีกับสหประชาชาติและชี้โอกาสทางธุรกิจในการนำเสนอสินค้าและบริการในโครงการต่าง ๆ ของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างเครือข่ายธุรกิจกับสหประชาชาติโดยคุณไวโรจน์ รุกขภิบาล ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมาร่วมบอกเล่าความประทับใจและข้อดีของการเป็นคู่ค้ากับสหประชาชาติอีกด้วย

จากรายงานการจัดซื้อจัดจ้างของสหประชาติฉบับล่าสุด ในปี ๒๕๖๒ มูลค่าการจัดซื้อสินค้าและบริการของหน่วยงานสหประชาชาติสูงถึง ๑๙.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณหกแสนล้านบาท โดยมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างจากประเทศไทย เท่ากับ ๘๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงขึ้นสามปีติดต่อกัน

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ