ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Friday February 19, 2021 14:32 —กระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

๑. การหารือทวิภาคีระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูตมองโกเลีย และรัสเซีย ประจำประเทศไทย

มองโกเลีย เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นายทูมูร์ อามาร์ซานา เอกอัคราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับมองโกเลียให้เกิดความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงการเร่งรัดการจัดทำความตกลงและแผนงานต่าง ๆ ที่จะเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังช่วงโควิด-๑๙ ตลอดจนสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในกรอบอาเซียนและกรอบภูมิภาค

รัสเซีย เมื่อช่วงเช้าของวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือกับนายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ซึ่งเข้าเยี่ยมคารวะเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง โดยทั้งสองฝ่ายหารือการดำเนินกิจกรรมในโอกาสครบรอบ ๑๒๕ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๖๕ และหารือภาพรวมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย ? รัสเซีย โดยจะมุ่งให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่รัสเซียมีศักยภาพ รวมถึงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - รัสเซีย ครั้งที่ ๘ และการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union - EAEU)

๒. ผลการหารือระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูต สปป.ลาว และฮังการี ประจำประเทศไทย

สปป.ลาว เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หารือกับนายแสง สุขะทิว เอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ สปป.ลาว มีความใกล้ชิดในทุกระดับ และเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือและความเป็น ?หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน?

ประเด็นสำคัญที่หารือ อาทิ (๑) ความร่วมมือด้านพลังงาน โดยจะส่งเสริมการซื้อ-ขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับลาวให้ครบ ๙,๐๐๐ เมกะวัตต์ ตามบันทึกความเข้าใจที่ได้มีการลงนามระหว่างกัน (๒) ความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งตามเส้นทางถนนระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และ (๓) การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ โดยจะเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้เอกอัครราชทูต สปป.ลาว ผลักดันการแก้ปัญหาการนำเข้าอาหารทะเลจากไทยไป สปป.ลาว ด้วย

ในโอกาสที่ไทยและ สปป.ลาว ครบรอบ ๗๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๖๔ ไทยมีกำหนดส่งมอบอาคารบำบัดยาเสพติดและอาคารผู้ป่วยฉุกเฉินโรงพยาบาลโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว อย่างเป็นทางการด้วย

ฮังการี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือกับนายซิลเวสเตอร์ บุช เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายหารือประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การเข้ามาลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำในไทยของฮังการี การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันในการส่งเสริมการค้า การขยายตลาดสินค้าเกษตรระหว่างกัน การประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษารัฐบาลฮังการี และความร่วมมือกันในองค์การระหว่างประเทศ ด้านเอกอัครราชทูตฮังการีฯ ยืนยันท่าทีที่เป็นมิตรต่อไทยในสหภาพยุโรปและในเวทีระหว่างประเทศ และพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยภายใต้หลักการเคารพซึ่งกันและกัน

๓. สหรัฐฯ ติดตามทวงคืนทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว และเตรียมส่งคืนสู่ประเทศไทย

กรณีการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุ ๒ รายการ ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ที่ถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทยและถูกจัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum นครซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

รัฐบาลตระหนักในคุณค่าความสำคัญของโบราณวัตถุ จึงได้แต่งตั้ง คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ และกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อขอรับข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน จนสามารถพิสูจน์ได้ว่า โบราณวัตถุทั้ง ๒ รายการนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและได้ถูกลักลอบนำออกไปโดยผิดกฎหมาย บัดนี้ คดีความเสร็จสิ้นแล้ว โดยฝ่ายจำเลยยินยอมให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยึดทับหลังทั้งสองรายการ และเมื่อพิพิธภัณฑ์ฯ ดำเนินการถอดถอนรายการทับหลังทั้งสองออกจากบัญชีของพิพิธภัณฑ์ฯ เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ จะนำส่งทับหลังทั้งสองรายการคืนให้แก่ผู้แทนรัฐบาลไทยผ่านกรอบการดำเนินงาน Victim Remission Program ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ โดยจะมีพิธีส่งมอบโบราณวัตถุทั้งสองรายการให้แก่ฝ่ายไทย อย่างเป็นทางการต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณสำนักงานอัยการสหรัฐฯ สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ที่ผลักดันติดตามทวงคืนโบราณวัตถุสำคัญทั้ง ๒ รายการกลับคืนสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่างในการติดตามคืนโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ ของไทยในสหรัฐฯ ต่อไป

๔. การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือ TIP Report ของไทยประจำปี ๒๕๖๓ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้หารือกับนางแครี่ จอห์นสโตน (Kari Johnstone) รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ผ่านระบบทางไกล เกี่ยวกับรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือ TIP Report ของไทยประจำปี ๒๕๖๓ เอกอัครราชทูตฯ ได้ย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติ และมุ่งทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำรายงานนี้

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงนาย David Hale ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ชูประเด็นการดำเนินการของไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งด้านนโยบาย และการปฏิบัติพัฒนาการที่สำคัญในการปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยใน ๓ ด้านหรือ 3Ps ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ (๑) Prosecution (การดำเนินคดีและบังคับกฎหมาย) เช่น การจัดตั้งคณะทำงาน (Task force) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและรายงานความคืบหน้าการปราบปรามการค้ามนุษย์ การยกระดับคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (Thailand Internet Crimes Against Children Task Force: TICAC) เป็นหน่วยงานถาวรในกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อการบังคับใช้กฎหมายแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรม (๒) Protection (การคุ้มครองช่วยเหลือ) ให้ความช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์และแรงงานบังคับกว่า ๑๔๘ ราย และปกป้องคุ้มครองพยานกว่า ๕๑ ราย รวมถึงจัดสรรงบประมาณเพื่อเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (๓) Prevention (การป้องกัน) อาทิ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๒ ฉบับ เพื่อคุ้มครองแรงงานประมง การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเข้มงวด และการขยายใบอนุญาตการทำงานให้แรงงานเพื่อนบ้าน ๓ ประเทศ กว่า ๒๔๐,๕๗๒ ราย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะเผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report ประจำปี ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนของทุกปี

๕. การดูแลช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ

๕.๑ การดำเนินงานของ สอท. ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ส่งผลให้อัตราการติดโควิด-๑๙ ของชุมชนไทยในนอร์เวย์ ต่ำกว่าชุมชนต่างชาติอื่น ๆ

รายงานข่าวของสถานีวิทยุ NPK P2 ของนอร์เวย์ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ในนอร์เวย์ โดยระบุว่า ชุมชนไทยมีอัตราการติดเชื้อต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มชาวต่างชาติอื่น ๆ ในนอร์เวย์ รวมทั้งยังมีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่ากลุ่มชาวนอร์เวย์โดยทั่วไป และชื่นชมการทำงานของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ในการให้ข้อมูลแก่ชุมชนไทยเกี่ยวกับมาตรการและข่าวสารโควิด-๑๙ ในนอร์เวย์อย่างต่อเนื่องที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเพจเฟซบุ๊ก ?เรื่องแปล-ข่าวนอร์เวย์? ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสถานเอกอัครราชทูตฯ ในการแปลข่าวสารที่มีประโยชน์ รวมทั้งชุมชนไทยเอง ที่มีการแบ่งปันข่าวสารระหว่างกันมาโดยตลอด จากข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูตฯ มีคนไทยในนอร์เวย์ติดเชื้อโควิด-๑๙ ประมาณ ๑๕ - ๒๐ คน และไม่มีผู้ใดมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต

๕.๒ การเตือนคนไทยที่จะไปทำงานในตุรกีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

กรมการกงสุลแจ้งเตือนคนไทยไม่ให้หลงเชื่อคำชักชวนที่เกินจริงให้ไปทำงานที่ตุรกีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และขอให้ตรวจสอบตำแหน่งงานที่ว่างจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เท่านั้น เนื่องจากการเดินทางเข้าและพำนักในตุรกีโดยผิดวัตถุประสงค์ของการตรวจลงตรา อาจทำให้ถูกจำคุกและถูกขึ้นบัญชีดำ โดยสั่งให้เดินทางออกนอกตุรกีและไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศอีก ขณะนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีตำแหน่งงานว่างในตุรกี เนื่องจากมีมาตรการควบคุมโควิด-๑๙ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจงานบริการ และหากติดเชื้อโควิด-๑๙ ในตุรกี แต่ไม่แสดงอาการ และไม่มีประกันสุขภาพ โรงพยาบาลในตุรกีจะไม่รับตัวไว้รักษา

๕.๓ กรณีชาวไทยอายุ ๘๔ ปี ที่ถูกทำร้ายเสียชีวิตที่นครซานฟรานซิสโก และการดูแลคนไทยในนครซานฟรานซิสโก

ตามที่มีกรณีการประทุษร้ายชาวไทยวัย ๘๔ ปี จนเสียชีวิตในนครซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๔ นั้น เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้เข้าร่วมในพิธีฌาปนกิจชาวไทยท่านดังกล่าว โดยได้แจ้งให้ครอบครัวและชุมชนไทยทราบว่า สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้มีหนังสือแสดงความขอบคุณถึงนายกเทศมนตรีนครซานฟรานซิสโก ที่ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนของสหรัฐฯ แล้วระหว่างวันที่ ๙-๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เข้าเยี่ยมนมัสการคณะสงฆ์และพบปะกับชุมชนไทยในนครซานฟรานซิสโกและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรับฟังสภาพความเป็นอยู่ในช่วงโควิด-๑๙ รวมถึงการลงทะเบียนเข้ารับวัคซีน โดยได้รับทราบว่า ชุมชนไทยยังคงรับมือกับการแพร่ระบาดฯ ได้ดี และมีผู้สูงอายุเริ่มได้รับวัคซีนแล้ว

๕.๔ การให้ความช่วยเหลือลูกเรือบรรทุกสินค้า Lanna Naree ในมัลดีฟส์

เมื่อวันที่ ๙ ก.พ. ๒๕๖๔ ได้เกิดเหตุผู้โดยสารและลูกเรือของเรือบรรทุกสินค้าสัญชาติไทย ชื่อ Lanna Naree จำนวน ๑๘ คน มีอาการอาหารเป็นพิษ และเสียชีวิต ๑ คน ซึ่งเป็นพ่อครัว โดยเรือลำดังกล่าวอยู่ระหว่างเดินทางจากออสเตรเลีย ปลายทางศรีลังกา และต่อมาได้เปลี่ยนเส้นทางเข้าเทียบท่าที่กรุงมาเล่ ประเทศมัลดีฟส์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ จึงได้ประสานงานกับบริษัทตัวแทนดูแลลูกเรือทั้งที่ประเทศไทยและที่มัลดีฟส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งคนไทย ๑๘ คนกลับประเทศ โดยทั้งหมดได้เดินทางถึงไทยแล้วเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ และจะประสานงานเพื่อดำเนินการส่งศพผู้เสียชีวิตกลับไทยในลำดับต่อไป

๖. ประชาสัมพันธ์รายการ Spokesman Live !!! ในวันศุกร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. รายการ ?คุยรอบโลกกับโฆษก กต.? Spokesman Live! จะสัมภาษณ์นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี อดีตอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เรื่อง ?บทบาทของไทยกับทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศ หลังยุคโควิด-๑๙? สามารถติดตามรับชมได้ทาง Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?

๗. ประชาสัมพันธ์ DLA Magazine นิตยสารออนไลน์จากกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ เตรียมเปิดตัว ?DLA Magazine? นิตยสารออนไลน์ฉบับปฐมฤกษ์ ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ ซึ่งมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับความร่วมมือ ไทย-ลาตินอเมริกา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืน ตามแนวทางของวาระแห่งชาติ ซึ่งเน้นการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อันจะช่วยเพิ่มพูนความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจของคนไทยเกี่ยวกับภูมิภาคภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง และมีองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด DLA Magazine ได้ทางแอปพลิเคชัน Discover Latin America จาก App Store / Google Play Store หรือทาง discoverlatinamerica.net ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

๘. ประชาสัมพันธ์งานเสวนา New Normal: New Coolture in Digital Age จัดขึ้นโดยกรมสารนิเทศ

ในวันอังคารที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๔.๐๐ น. โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในสื่อดิจิตัล อาทิ คุณแท็บ - รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของพอดคาสท์ Mission to the Moon, คุณเคน - นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ จาก The Standard, คุณมิ้นท์ - มณฑล กสานติกุล เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก I Roam Alone และคุณวิศ - วิศรุต สินพงศพร เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก วิเคราะห์บอลจริงจัง ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ