รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางสนับสนุนอาเซียนแก้ไขปัญหาในเมียนมา ในการประชุมผู้นำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

ข่าวต่างประเทศ Monday April 26, 2021 13:43 —กระทรวงการต่างประเทศ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางสนับสนุนอาเซียนแก้ไขปัญหาในเมียนมา ในการประชุมผู้นำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้อาเซียนพิจารณาจัดตั้งกลุ่ม ?Friends of the Chair? ประสานงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในเมียนมา โดยยึดแนวทาง D4D ได้แก่ การยุติความรุนแรง การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง และการหารือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเมียนมา ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา

เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Leaders? Meeting) ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ในฐานะประธานอาเซียนปี ๒๕๖๔ เป็นประธานการประชุม การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมการประชุมครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนได้มีโอกาสพบปะกันด้วยตนเองในรอบกว่า ๑ ปีตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของประชาคมอาเซียนและสนับสนุนการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของบรูไนฯ ภายใต้หัวข้อหลัก ?เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง? (We care, We prepare, We prosper) ตลอดจนหารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนในการรับมือกับโควิด-๑๙ โดยบรูไนฯ และเมียนมาได้ประกาศสมทบกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-๑๙ ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทย ประเทศละ ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ในการนี้ ไทยได้เสนอแนะให้อาเซียนใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นยุทธศาสตร์ทางเลือกเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในยุคหลังโควิด-๑๙

ที่ประชุมยังได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามร่วมกันของอาเซียนเพื่อมุ่งแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาในเมียนมาและรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยย้ำความสำคัญของการมีบทบาทที่สร้างสรรค์ของอาเซียนเพื่อร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์และช่วยสนับสนุนเมียนมาให้กลับคืนสู่สถานการณ์ปกติ โดยไทยได้เสนอให้อาเซียนพิจารณาจัดตั้งกลุ่ม ?Friends of the Chair? เพื่อช่วยประสานงานการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในเมียนมา โดยยึดแนวทาง D4D ได้แก่ การยุติความรุนแรง (de-escalate violence) การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (delivery of humanitarian assistance) การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง (discharge of detainees) และการหารือ (dialogue) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเรื่องการพัฒนา (development) อย่างยั่งยืนในเมียนมา

ภายหลังการประชุม บรูไนฯ ในฐานะประธานอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ของประธาน โดยระบุประเด็นที่อาเซียนเห็นชอบร่วมกันเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา ๕ ประการ ได้แก่ (๑) การยุติความรุนแรงและการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ (๒) การหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา (๓) ผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของประธานอาเซียนจะช่วยอำนวยความสะดวกกระบวนการหารือ โดยการสนับสนุนของเลขาธิการอาเซียน (๔) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่าน AHA Centre (๕) ผู้แทนพิเศษและคณะจะเดินทางไปเมียนมาเพื่อพบกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ