รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๒

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 5, 2021 13:39 —กระทรวงการต่างประเทศ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๒

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้ง ๒ โดยได้ผลักดันความร่วมมือเพื่อรับมือความท้าทายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสาธารณสุขและวัคซีน ความมั่นคงรูปแบบใหม่ ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่มูลค่า สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสอดประสานกับกรอบความร่วมมือ ACMECS และกรอบความร่วมมืออื่น และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong - US Partnership ? MUSP) ครั้งที่ ๒ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีสหรัฐฯ และกัมพูชาเป็นประธานร่วม และประเทศลุ่มน้ำโขงและเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วม

รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศลุ่มน้ำโขงและสหรัฐฯ ได้ร่วมกันทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมาในกรอบ MUSP และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อน MUSP เพื่อรับมือกับความท้าทายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่

?ที่ประชุมให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนและการส่งเสริมศักยภาพด้านสาธารณสุขของอนุภูมิภาคฯ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำต่อที่ประชุมว่า ประชาชนควรสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลาในฐานะสินค้าสาธารณะของโลก และเสนอให้ MUSP เพิ่มพูนความร่วมมือด้านการผลิตการกระจาย และการวิจัยและการพัฒนาวัคซีน ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศลุ่มน้ำโขงได้ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ได้ช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การแพทย์ ยา และวัคซีน แก่อนุภูมิภาคฯ

ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-๑๙ ผ่านการพัฒนาดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) และสนับสนุนให้สานต่อความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน การบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา การฝึกอบรม และการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทสตรีและเยาวชน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้ประเทศสมาชิก MUSP ศึกษารูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการเจริญเติบโตอย่างสมดุลและความยั่งยืน นอกจากนี้

ที่ประชุมได้ให้การรับรองแผนปฏิบัติการ MUSP ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๓ ซึ่งระบุหลักการและโครงสร้างของกรอบความร่วมมือ และโครงการของสหรัฐฯ สำหรับอนุภูมิภาคฯ

อนึ่ง MUSP จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๖๓ โดยเป็นการยกระดับจากกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative ? LMI) ซึ่งจัดตั้งขึ้นก่อนหน้าในปี ๒๕๕๒ โดย MUSP มีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมเสถียรภาพ สันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาที่ยั่งยืน ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และสหรัฐฯ

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ