เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมระดับภูมิภาคของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี

ข่าวต่างประเทศ Friday October 8, 2021 14:57 —กระทรวงการต่างประเทศ

เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมระดับภูมิภาคของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี

เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมระดับภูมิภาคของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี โดยย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ประชาชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อการฟื้นฟูอนุภูมิภาคฯ อย่างยั่งยืนและครอบคลุมรอบด้าน

เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ได้เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK Regional Forum) ในหัวข้อ From Cooperation to Strategic Partnership: A Decade of Shared Development for People, Prosperity and Peace ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย และสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง

ในพิธีเปิดการประชุมฯ นายอี อุก-ฮอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมฯ โดยย้ำว่า สาธารณรัฐเกาหลีให้ความสำคัญกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียนอย่างยิ่งผ่านการดำเนินนโยบายมุ่งใต้ใหม่และนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส และพร้อมสานต่อความร่วมมือในมิติต่าง ๆ กับประเทศลุ่มน้ำโขง อาทิ การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน การเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับโรคระบาด การพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในระดับภูมิภาค และการเสริมสร้างการสอดประสานการทำงานระหว่างกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี กับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ซึ่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยเชื่อว่า ACMECS มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคตและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคฯ เนื่องจากขับเคลื่อนโดยประเทศสมาชิก ซึ่งได้แก่ ประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง ๕ ประเทศ

เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงของไทยได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ (Keynote Address) ในการประชุมดังกล่าวเกี่ยวกับความก้าวหน้าของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ในช่วง ๑ ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนผ่านหมุดหมายสำคัญ ได้แก่ (๑) การประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือฯ ครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๖๒ (๒) การยกระดับกรอบความร่วมมือฯ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือฯ ครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๖๓ และ (๓) การจัดตั้งกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK Cooperation Fund ? MKCF) เพื่อสนับสนุนโครงการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ ซึ่งเป็นกลไกที่สร้างสรรค์ต่อการส่งเสริมความยั่งยืนและความสามารถในการปรับตัวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยได้ย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ประชาชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อการฟื้นฟูอนุภูมิภาคฯ อย่างยั่งยืนและครอบคลุมรอบด้าน โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ปีแห่งการแลกเปลี่ยนของกรอบความร่วมมือฯ ปี ๒๕๖๔ (Mekong - ROK Exchange Year 2021) ซึ่งได้มีการขยายระยะเวลาออกไปจนถึงปี ๒๕๖๕

ผู้บรรยายอื่น ๆ จากสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (KOICA) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ได้กล่าวเกี่ยวกับบทบาทด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของสาธารณรัฐเกาหลีที่มีมายาวนานในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือฯ การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) และโครงการขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของสาธารณรัฐเกาหลี (KOICA) ซึ่งทำให้สาธารณรัฐเกาหลีได้รับการยอมรับจากประเทศลุ่มน้ำโขงว่า เป็นมิตรที่เชื่อถือได้ของอนุภูมิภาคฯ (a trusted friend) และได้เห็นพ้องว่า ประเด็นด้านการบริหารจัดการน้ำ ความมั่นคง ด้านสาธารณสุข และการสอดประสานระหว่างกรอบความร่วมมือฯ กับองค์กรเพื่อการพัฒนาอื่น ๆ ในอนุภูมิภาคฯ และภูมิภาค อาทิ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคฯ

การประชุมระดับภูมิภาคของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลีในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐ ปี ของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือฯ ซึ่งมีประเทศสมาชิกประกอบด้วยประเทศลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม และสาธารณรัฐเกาหลี ปัจจุบัน กรอบความร่วมมือฯ ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือภายใต้แผนปฏิบัติการ ฉบับที่ ๓ ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๕ และประกอบด้วย ๓ เสา ได้แก่ ประชาชน ความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ และสาขาความร่วมมือ ๗ สาขา ได้แก่ (๑) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (๒) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (๓) การเกษตรและการพัฒนาชนบท (๔) โครงสร้างพื้นฐาน (๕) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๖) สิ่งแวดล้อม และ (๗) ความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ