ไทยฉลองวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลประจำปี ๒๕๖๔ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก เยาวชน ภาคประชาสังคม และหุ้นส่วนต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Monday December 20, 2021 14:26 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวสุนทรพจน์ในงานวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลปี ๒๕๖๔ ภายใต้หัวข้อ ?ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน? (International Universal Health Coverage Day 2021 : Leave No One?s Health Behind, Invest in Health System for All) ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๒ ธันวาคมของทุกปีโดยได้เน้นย้ำความสำเร็จของไทยในการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและเข้มแข็งได้โดยไม่ได้ต้องใช้งบประมาณมหาศาลแต่อาศัยความมุ่งมั่นและการสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

งานดังกล่าวจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้แทนคณะทูต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนภาคประชาสังคม เข้าร่วมในรูปแบบ hybrid กว่า ๒๐๐ คน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกล่าวเปิดงานฯ ย้ำประสบการณ์ของไทยและความสำคัญของการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในราคาที่ย่อมเยาที่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะในบริบทการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ ในช่วงการอภิปรายในหัวข้อ UHC: the key system to fight COVID-19 and build back better ผู้อภิปราย ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการ สปสช. ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย หัวหน้าผู้แทน Japan International Cooperation Agency (JICA) ประเทศไทย ผู้แทนภาคประชาสังคมและเยาวชนผู้แทนไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๔ และเยาวชนอดีตคนไร้สัญชาติ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น มุมมอง และประสบการณ์เกี่ยวกับ UHC โดยมุ่งให้ข้อเสนอแนะเพื่อเสริมสร้าง UHC ให้เข้มแข็งและครอบคลุมยิ่งขึ้น อีกทั้งผลักดันให้มีการบูรณาการ UHC เข้ากับแผนการฟื้นฟูจาก COVID-19 การเตรียมความพร้อมและรับมือกับโรคระบาดในอนาคต ตลอดจนการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการดูแลสุขภาพในภาพรวม อีกทั้งมีส่วนช่วยทำให้ประชากรทุกกลุ่มไม่ว่าจะมีสัญชาติใดสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่จำเป็นสำหรับการป้องกัน รวมถึงการได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ด้วย

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ