สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕

ข่าวต่างประเทศ Friday May 6, 2022 13:48 —กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๐๐ น.

ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ และ Facebook Live

๑. ผลการเยือนไทยของ นรม.ญี่ปุ่น (๑ - ๒ พ.ค. ๒๕๖๕)

นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นรม.ญี่ปุ่นได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย และหารือข้อราชการกับ นรม. ในช่วงเย็นของวันที่ ๒ พ.ค. ๒๕๖๕ ณ ทำเนียบรัฐบาล ผลการหารือสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องหาข้อสรุปและประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ ๕ ปี ภายในปีนี้ เพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน และแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยา ดิจิทัล และเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่ต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สองฝ่ายจะส่งเสริมการประสานโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย กับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ของญี่ปุ่น และร่วมมือกันในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนจากญี่ปุ่น รวมทั้งความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดย นรม.ญี่ปุ่นย้ำว่า ไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในภูมิภาค และญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นมีนวัตกรรม

ความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคง เห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง กลาโหมและด้านยุติธรรม และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในประเทศที่สาม รวมถึงการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และส่งเสริมความร่วมมือภายใต้เอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก กับแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่น

ในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ สถานการณ์ในเมียนมา ยูเครน ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก คาบสมุทรเกาหลี การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และการลดอาวุธและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยืนยันที่จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค ในเดือน พ.ย. ปีนี้ และสนับสนุนไทยในการจัดการประชุมให้ลุล่วงด้วยดี

นรม.ทั้งสองได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น (๒) ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และ (๓) หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ทั้งนี้ ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์ฯ มีการหารือร่วมกันเป็นเวลานานแล้ว และเป็นไปเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อหารือในรายละเอียดต่อไป ซึ่งญี่ปุ่นได้ทำความตกลงในลักษณะนี้กับ ปท. อื่นในอาเซียนหลาย ปท.ก่อนที่จะลงนามกับไทย

ผู้สนใจสามารถติดตามผลการเยือนโดยละเอียด รวมทั้งคำกล่าวแถลงข่าวร่วมของ นรม. ได้ทางเว็บไซต์ กต.

(https://www.mfa.go.th/th/content/pmjapanofficialvisit02052565?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b)

๒. ความคืบหน้าระบบ Thailand Pass และการปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยทางบก (มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ พ.ค. ๒๕๖๕)

สถิติผู้ลงทะเบียน Thailand Pass ตั้งแต่มีการประกาศใช้มาตรการเดินทางเข้า ปทท. ใหม่ (ตั้งแต่ ๒๙ เม.ย. - ๔ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๐.๐๐ น.) มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้า ปทท. ทั้งสิ้น ๒๐๑,๑๔๑ คน โดยในจำนวนนี้ได้รับอนุมัติแล้ว ๑๙๐,๘๕๔ คน รอการพิจารณา ๗,๐๔๙ คน และยอดผู้เดินทางเข้าไทยทางอากาศตั้งแต่วันที่ ๑-๓ พ.ค. ๒๕๖๕ มีจำนวน ๕๙,๐๑๙ คน (ชาวไทย ๙,๒๔๘ คน ชาวต่างชาติ ๔๖,๗๐๔ คน) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการฟื้นฟู ศก.ของไทยยุคหลังโควิด-๑๙

ศบค. ได้ปรับมาตรการเดินทางเข้าไทยทางบกใหม่ โดยจำแนกตามประเภทผู้เดินทางได้ ๒ ประเภท ดังนี้

(๑) สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางลงทะเบียน Thailand Pass ที่เว็บไซต์ https://land.tp.consular.go.th พร้อมแสดงหลักฐาน ประกอบด้วย

  • หนังสือเดินทาง
  • เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนตามข้อกำหนด หรือ ผลตรวจ RT-PCR ที่ออกภายใน ๗๒ ชม. ก่อนเดินทาง (แนบหลักฐานใน Thailand Pass)
  • หลักฐานประกัน ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในไทย วงเงินขั้นต่ำ ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับชาวต่างชาติ)
  • ผู้ไม่ได้รับวัคซีน/รับวัคซีนไม่ครบ ต้องจอง AQ เป็นเวลา ๕ วัน พร้อมตรวจ RT-PCR ๑ ครั้ง ในวันที่ ๔-๕ (กรณีคนไทยเลือกพักใน State Quarantine ไม่ต้องแนบหลักฐาน)

(๒) สำหรับผู้ถือบัตรผ่านแดน ไม่ต้องลงทะเบียน Thailand Pass

  • ไม่ต้องมีหลักฐานการมีประกัน
  • ต้องแสดงเอกสารการได้รับวัคซีนครบ ที่บริเวณด่าน
  • เดินทางได้เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดตามความตกลงระหว่าง ๒ ปท. (ยกเว้นคนไทย)
  • ผู้ถือบัตรผ่านแดนชาวต่างชาติ พำนักในไทยได้ไม่เกิน ๓ วัน
  • ทั้งนี้ สำหรับผู้เดินทางที่ได้รับอนุมัติ Thailand Pass ก่อนหน้านี้แล้ว สามารถใช้ QR Code ที่ได้รับแล้วในการเดินทางได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่

** จากข้อมูลของ มท. ในขณะนี้ จ. ที่มีความพร้อมในการเปิดด่านทางบกตั้งแต่วันที่ ๑ พ.ค. เป็นต้นมา มีจำนวน ๑๗ จ. (จาก จ.ที่มีด่านพรมแดนถาวรทางบกทั้งหมด ๒๒ จ.)

๓. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ ๓๔ (๒๘ เม.ย. ๒๕๖๕)

นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ รป.กต.ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ ๓๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีออสเตรเลียเป็นประธานร่วมคู่กับ สปป.ลาวในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย

ที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญกับความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ และการเพิ่มพูนความร่วมมือภายใต้การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย ตลอดจนยินดีที่อาเซียนและออสเตรเลียอยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารแนบท้ายแผนปฏิบัติการระหว่างอาเซียน-ออสเตรเลียเพื่อรองรับความร่วมมือภายใต้การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านให้มีผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

รป.กต.เสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียในการส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งในด้านความเชื่อมโยงสีเขียว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพ และความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และความร่วมมือในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศไทย

๔. ข่าวสารนิเทศร่วมระหว่างกัมพูชา อินโดนีเซีย ไทยในโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำสำคัญ (๕ พ.ค. ๒๕๖๕)

กต.กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทยได้ออกข่าวสารนิเทศร่วมในโอกาสที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำสำคัญสามรายการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ ๑๑ -๑๓ พ.ย. ซึ่งกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ การประชุมผู้นำจี ๒๐ ในวันที่ ๑๕ -๑๖ พ.ย. ซึ่งอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในวันที่ ๑๘ - ๑๙ พ.ย. ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ โดยแต่ละกรอบการประชุมมีสาระสำคัญ ดังนี้

อาเซียน ภายใต้หัวข้อ ?อาเซียนร่วมจัดการความท้าทายไปด้วยกัน? (?ASEAN A.C.T.: Addressing Challenges Together?) มุ่งมั่นจัดการความท้าทายที่อาเซียนเผชิญร่วมกันและรักษาพลวัตของการสร้างประชาคมอาเซียนด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เสริมสร้างความยืดหยุ่นของอาเซียนท่ามกลางความไม่แน่นอนระดับโลกและรักษาบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค ตลอดจนการเร่งความพยายามในการฟื้นฟูผลกระทบของโควิด-๑๙

จี ๒๐ ภายใต้หัวข้อ ?ฟื้นฟูไปด้วยกัน ฟื้นฟูให้แข็งแกร่งกว่าเดิม? (?Recover Together, Recover Stronger?) อินโดนีเซียมุ่งมั่นที่จะทำให้จี ๒๐ มีความหมายไม่เฉพาะสำหรับสมาชิก แต่สำหรับทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา โดยได้ระบุประเด็นสำคัญสามประการ ได้แก่ การเสริมสร้างสถาปัตยกรรมด้านสาธารณสุขระดับโลก การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อให้จี ๒๐ สามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นการฟื้นฟูของโลกอย่างเข้มแข็งและครอบคลุม

เอเปค หัวข้อหลักซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพปีนี้ คือ ?เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล? (?Open.Connect. Balance.?) สะท้อนเป้าหมายและความมุ่งมั่นร่วมกันของเขตเศรษฐกิจสมาชิกในการจัดการกับความท้าทายอันใหญ่หลวงที่เกิดจากโรคระบาดและความขัดแย้ง ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงทั่วโลก ไทยผลักดันการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก การฟื้นฟูการเดินทางอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ และเน้นย้ำความครอบคลุมและความยั่งยืนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว

ในฐานะประธานของการประชุมสำคัญสามรายการในปีนี้ กัมพูชา อินโดนีเซียและไทยมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของความเป็นแกนกลาง ความน่าเชื่อถือ และบทบาทของอาเซียนในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพระดับภูมิภาคและโลกต่อไป

๕. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (๙? ๑๙ พ.ค. ๖๕)

ไทยจะจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบพบหน้ากัน ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีการประชุมคณะทำงานกลุ่มต่าง ๆ ครอบคลุมการหารือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดช่องว่างทางดิจิทัล การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ไปจนถึงการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์ภายใต้หัวข้อหลักของไทย รวมกว่า ๒๐ การประชุม คาดว่าจะมีผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปคเดินทางเข้าร่วมประมาณ ๒๕๐ คน และเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์กว่า ๒๐๐ คน

การประชุมครั้งนี้สานต่อการผลักดันเป้าหมายหลัก ๓ ข้อที่ไทยประกาศไว้นับตั้งแต่การรับตำแหน่งเจ้าภาพฯ เมื่อเดือน พ.ย. ๒๕๖๔ ได้แก่

(๑) การขับเคลื่อนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ในยุคหลังโควิด-๑๙ เพื่อวางเป้าหมายให้ FTAAP และจะปูทางไปสู่การหารือระดับรัฐมนตรีการค้าเอเปค และการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีการค้าฯ กับผู้นำภาคธุรกิจจากกลุ่มสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ พ.ค. ๒๕๖๕ โดยเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมระดับรัฐมนตรีนี้จะถือเป็นผลลัพธ์ (key deliverable) แรกที่ไทยผลักดันสำเร็จในฐานะเจ้าภาพเอเปค

(๒) การส่งเสริมการเดินทางข้ามแดนที่สะดวกและปลอดภัย ไทยจะมีบทบาทนำในการเตรียมความพร้อมระบบฐานข้อมูลเอเปค (APEC Portal) ที่รวบรวมมาตรการการเดินทางข้ามแดนในภูมิภาคฯ และการเชื่อมโยงระบบตรวจสอบใบรับรองฉีดวัคซีนเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางข้ามพรมแดนในเอเปค ไทยจะจัดการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ หรือ APEC Safe Passage Taskforce ครั้งที่ ๒ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ รวมทั้งจะจัดทำข้อเสนอแนะขยายกลุ่มผู้ใช้งานบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ MSMEs และกลุ่มผู้บริหารระดับกลางมากขึ้นด้วย

(๓) การนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาเร่งกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเปค โดยสานต่อการจัดทำเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้ชื่อ ?Bangkok Goals on BCG Economy? เพื่อให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองในห้วงการประชุมผู้นำฯ ซึ่งจะจัดขึ้นกรุงเทพฯ ในเดือน พ.ย. ๒๕๖๕ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการลดและบริหารจัดการของเสีย ซึ่งกระบวนการนี้จะยังดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายปี

๖. การให้บริการรับรองนิติกรณ์เอกสารของ สนง.สัญชาติและนิติกรณ์ ภูเก็ตและปทุมวัน (ตั้งแต่วันที่ ๒ พ.ค. ๒๕๖๕)

ตั้งแต่วันที่ ๒ พ.ค. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป สำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ ภูเก็ต และสำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ ปทุมวัน (MBK Center) จะปรับเวลาให้บริการเป็น ๑๐.๐๐ - ๑๕.๓๐ น. ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการ)

๗. ผลการประกวดตราสัญลักษณ์และคำโปรยเนื่องในโอกาส ๓๐ ปีความสัมพันธ์อาเซียน- อินเดีย

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ชาวไทยชนะเลิศการออกแบบตราสัญลักษณ์และคำขวัญ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีของความสัมพันธ์ อาเซียน-อินเดีย

โดยเมื่อวันที่ ๑๔ เม.ย. ๒๕๖๕ ผลงานการออกแบบและคำขวัญ ?ประชาคมแห่งคุณค่า? ของ คุณบิว ธนากร คุ้มเครือ จากไทยได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดตราสัญลักษณ์และคำขวัญ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปี คสพ. อาเซียน-อินเดีย ในปีนี้ จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดกว่า ๑,๐๐๐ ชิ้น

ผลงานของไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะถูกนำไปใช้ในกิจกรรมเฉลิมฉลอง ๓๐ ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย และกิจกรรมเฉลิมฉลองปีแห่งมิตรภาพระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ตลอดปี ๒๕๖๕

เมื่อวันที่ ๒๖ เม.ย. คณะผู้แทนถาวรอินเดียประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตาได้จัดงานเลี้ยงรับรองและเปิดตัวตราสัญลักษณ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดย น.ส. อุรวดี ศรีภิรมย์ ออท.ผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

๘. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

วันพฤหัสบดีที่ ๕ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นางฐิติพร จิระสวัสดิ์ ผอ.สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการในหัวข้อ ?สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการกับการพัฒนาบุคลากรด้านการทูตและการต่างประเทศของไทย? สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?

วันศุกร์ที่ ๖ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายณัฐภาณุ นพคุณ รอง อธ.สารนิเทศและรองโฆษก กต. หัวข้อ " Advancing Sustainability Initiatives in the EEC" สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?

๙. รายการเวทีความคิด

วันพฤหัสบดีที่ ๕ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๓๐ - ๒๐.๕๘ น. รายการ ?เวทีความคิด? ช่วงสายตรงจาก กต.จะสัมภาษณ์ อธ.สารนิเทศและโฆษก กต. ในหัวข้อ ?ไทยในเวทีโลก ปี ๒๕๖๕: การเยือนไทยของ นรม.ญี่ปุ่น? สามารถรับฟังได้ทาง FM 96.5 หรือรับฟังย้อนหลังทาง youtube ?MFA Thailand Channel?

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/bwhcOQY0qK/

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube ?MFA Thailand Channel?

: https://www.youtube.com/user/mfathailand

กองการสื่อมวลชน

กรมสารนิเทศ

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ