สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๓๐ น. ณ ศูนย์ข่าว กระทรวงการต่างประเทศ และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 6, 2022 14:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

๑. การเยือนไทยของมนตรีแห่งรัฐ/รมว.กต.จีน (๔ - ๕ ก.ค. ๒๕๖๕)

นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ/รมว.กต.จีน เยือนไทยในฐานะแขกของ กต. เพื่อสานต่อผลการหารือจากการเยือนจีนของ รนรม./รมว.กต. เมื่อวันที่ ๑ - ๒ เม.ย. ๒๕๖๕

ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับแนวทางพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านในปีนี้ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากผลกระทบของโควิด-๑๙ และสถานการณ์โลก โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า รวมถึงการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยไปจีน การลงทุน และความเชื่อมโยง นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกันด้วย มนตรีแห่งรัฐ/รมว.กต.จีน มีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะ นรม. ในช่วงบ่ายของวันที่ ๕ ก.ค.

สรุปผลการแถลงข่าวร่วม ระหว่าง รนรม./รมว.กต. และมนตรีแห่งรัฐ/รมว.กต.จีน

  • รนรม./รมว.กต. กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือทวิภาคีในประเด็นต่าง ๆ อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะการสร้างประชาคมระหว่างไทย ? จีน ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการหารือทวิภาคีระหว่างการเยือนมณฑลอานฮุย ของ รนรม./รมว.กต. เมื่อวันที่ ๑ ? ๒ เม.ย. ๖๕ ซึ่งหลังจากนั้นจีนได้ช่วยผลักดันในหลายประเด็น นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยไปจีน โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุด การอำนวยความสะดวกทางด้านศุลกากร ตลอดจน ความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยขอให้สองฝ่ายมองไปข้างหน้าร่วมกัน และยังมีประเด็นสิ่งที่ไทยและจีนต้องร่วมกันผลักดันต่อไป
  • มนตรีแห่งรัฐ/รมว.กต.จีน เห็นชอบทุกประการที่ รนรม./รมว.กต. กล่าว และยืนยันว่าแม้สถานการณ์โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ คสพ.ไทย-จีน มีความมั่นคงยั่งยืน โดยในการหารือครั้งนี้ สองฝ่ายเห็นพ้องใน ๔ ด้าน ได้แก่

๑. การส่งเสริม คสพ. จีน-ไทย ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในอนาคต โดยเน้น คสพ.ในระดับประชาชนที่มีความสำคัญ เพื่อสร้างประชาคมตามความหมาย "จีน-ไทย ไม่ใช่อื่นไกล คือพี่น้องกัน"

๒. การสร้างระเบียง ศก. จีน-ลาว-ไทย ที่จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขต ศก. EEC ผ่านระเบียง ศก. ใน สปป.ลาว เข้าสู่มณฑลยูนนาน และจะเป็นทางผ่านของสินค้าจากไทยส่งไปยังยุโรปได้ผ่านจีน รวมถึงการผลักดันระบบ logistics เพื่อกระตุ้นการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน - การอำนวยความสะดวกสินค้าเกษตรจากไทยไปสู่จีน และจะมีการสร้างช่องทางพิเศษให้สินค้าเกษตรจากไทยผ่านเข้าสู่จีนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

๓. การส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทาง Cyber ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และความร่วมมือเพื่อปราบปราม call center ผิดกฎหมาย

๔. จีนสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยอย่างเต็มที่ รวมทั้งข้อริเริ่มต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะการประชุมเอเปคช่วงเดือน พ.ย. นี้ จะเป็นการประชุมแบบกายภาพ ครั้งแรกหลังโควิด-๑๙ ซึ่งจีนตั้งความหวังว่า จะเป็นเวทีที่ส่งเสริมการค้า พัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเร่งรัดการดำเนินการตาม Putrajaya Vision 2040 เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภูมิภาค

๒. การประชุม รมว.กต.กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๗ (๓ - ๔ ก.ค. ๖๕)

รนรม./รมว.กต.เดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุม รมว.กต.กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๗ (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) ที่เมืองพุกาม โดยมีจีนและเมียนมาเป็นประธานร่วม และมีประเทศสมาชิกอื่น ๆ อีก ๔ ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป. ลาว และเวียดนาม

ที่ประชุมได้ทบทวนความคืบหน้าของความร่วมมือภายใต้กรอบ MLC และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ MLC เพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกัน เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ที่ยังไม่สิ้นสุด ความตึงเครียดระหว่างประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและน้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประชุมเห็นพ้องสนับสนุนความร่วมมือในสาขาการรวมตัวทางเศรษฐกิจ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาสีเขียว นวัตกรรม สาธารณสุข และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน จีนได้เสนอข้อริเริ่มสำคัญในสาขาความร่วมมือ ๖ สาขา ได้แก่ การเกษตร น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจดิจิทัล อวกาศและดาวเทียม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสาธารณสุข

รนรม./รมว.กต.ได้กล่าวถ้อยแถลง เสนอแนวคิด ?R I S E? (together) เป็นแนวคิดเพื่อขับเคลื่อน การพัฒนาในสาขาสำคัญทางยุทธศาสตร์ ดังนี้

๑. การส่งเสริมความยืดหยุ่น (Resilience) ด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและน้ำ

๒. การรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Integration and Interoperability) เพื่อการส่งเสริมความเชื่อมโยง และการอำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดน

๓. การสอดประสาน (Synergy) เพื่อการส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ทั้งระหว่างประเทศสมาชิก MLC และระหว่าง MLC กับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะ ACMECS

๔. ระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจและนวัตกรรม (Enabling Ecosytem) โดยเฉพาะข้อเสนอของไทยในการพัฒนาระเบียงนวัตกรรม (innovation corridors) และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนใน MLC ผ่านสภาธุรกิจแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong - Lancang Business Council)

ที่ประชุมให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ ได้แก่ แถลงข่าวร่วม ๑ ฉบับ และแถลงการณ์ร่วม ๔ ฉบับ ด้านศุลกากร การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การบริหารจัดการภัยพิบัติ และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้านศุลกากรและการเกษตรจะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน รวมทั้งรับมือกับความท้าทายของการค้าข้ามแดนและปัญหาการติดขัดบริเวณด่านชายแดน

๓. การเยือนไทยของผู้ช่วยเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (๒๖ มิ.ย. - ๒ ก.ค. ๖๕)

นายยูซุฟ อัล-ดูเบอีย์ (His Excellency Mr. Yousef Al-Dobeay) ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และคณะเยือนประเทศไทยในฐานะแขก กต. เพื่อเตรียมการเยือนไทยของเลขาธิการ OIC และส่งเสริมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมพหุวัฒนธรรมในไทย เพื่อส่งเสริมคุณค่าอิสลามและความเป็นปึกแผ่นของประเทศสมาชิกและประเทศผู้สังเกตการณ์

วันที่ ๒๗ มิ.ย. ๒๕๖๕ ผู้ช่วยเลขาธิการฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ รนรม./รมว.กต. เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือระหว่าง OIC กับประเทศไทย โดย ผช.รมต.ประจำ กต.เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ช่วยเลขาธิการฯ และคณะ

วันที่ ๒๘ มิ.ย. ๒๕๖๕ คณะผู้แทน OIC ได้เข้าเยี่ยมคารวะผู้แทนจุฬาราชมนตรีและพบกับผู้บริหารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาลระหว่างประเทศสมาชิก OIC นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับชุมชนมุสลิมในไทยกับคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย

วันที่ ๒๙ ? ๓๐ มิ.ย. ๒๕๖๕ คณะผู้แทน OIC ได้เยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) และพบหารือกับผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ (๑) เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) โดยหารือพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง (๒) อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ (๓) เยี่ยมชมโรงเรียนตาดีกา

คณะผู้แทน OIC ประทับใจในความเปิดกว้างและความพยายามของรัฐบาลไทยที่เคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพลเมืองมุสลิม และชื่นชมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะผู้แทน OIC ได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลไทยในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับฝ่ายผู้เห็นต่างเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

๔. การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔ (๓๐ มิ.ย. ๖๕)

ผช.รมว.กต. นำคณะผู้แทนไทย เยือนสหราชอาณาจักร เพื่อเข้าร่วมการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔ ณ กรุงลอนดอน โดยมีนางอะแมนดา มิลลิง รมช.กต. (ด้านเอเชีย) สหราชอาณาจักร เป็นประธานร่วม

ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่าง ๆ ครอบคลุมความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้าการลงทุน กลาโหมและความมั่นคง สาธารณสุข การศึกษา การท่องเที่ยว วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ความร่วมมือด้านดิจิทัล การรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ฝ่ายไทยยืนยันความประสงค์ที่จะแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมในการอำนวยความสะดวกการเดินทางระหว่างประเทศ

ภายหลังการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้รับรองแถลงการณ์ร่วม Joint Statement of the Fourth Session of the United Kingdom-Thailand Strategic Dialogue เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมและขับเคลื่อนความร่วมมือบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของสองประเทศ และจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายผ่านระบบการประชุมทางไกลระหว่างฝ่ายไทยโดยพลเอก สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับฝ่ายสหราชอาณาจักร โดย รมช.กต.สหราชอาณาจักร

ผช.รมว.กต.ได้พบกับ Sir Graham Brady ประธานสมาชิกกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาสหราชอาณาจักร - ไทย โดยได้หารือแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านนิติบัญญัติ และการแลกเปลี่ยนการเยือนของสมาชิกรัฐสภาของทั้งสองฝ่าย

๕. มาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยหลัง ๑ ก.ค. ๒๕๖๕

มาตรการเดินทางเข้าประเทศสำหรับคนไทยและคนต่างชาติ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๖๕ ดังนี้

  • ไม่ต้องลงทะเบียน Thailand Pass
  • แสดงเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนครบ หรือ ผลตรวจ RT-PCR / Professional ATK ที่ออกภายใน ๗๒ ชั่วโมงก่อนเดินทาง
  • ไม่ต้องมีประกันสุขภาพ

๖. การแจ้งเตือนคนไทยการนำเข้าหรือดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบไปยังต่างประเทศ

กต. และ สอท./สกญ.ของไทยทั่วโลก มีความห่วงใยคนไทยที่อาจนำกัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าวเดินทางไปต่างประเทศโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งทำให้ต้องได้รับโทษตาม กม.ของประเทศนั้น ๆ โดยโทษมีตั้งแต่การปรับเงินเป็นจำนวนมาก เนรเทศ จำคุกตลอดชีวิต ไปจนถึงประหารชีวิต โดยไม่ยกเว้นว่าเป็นการนำกัญชาเข้าเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์หรือไม่

          ในขณะนี้ สอท./สกญ.ต่าง ๆ ที่ออกประกาศแจ้งเตือนคนไทยในเรื่องดังกล่าวแล้ว ได้แก่ สอท.          ณ กรุงโตเกียว ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ จาการ์ตา สิงคโปร์ โซล กัวลาลัมเปอร์ บันดาร์เสรีเบกาวัน วอชิงตัน แคนเบอร์รา ลอนดอน กาฐมาณฑุ อัมมาน ธากา โดยตัวอย่างประเทศที่มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน โดยแต่ละประเทศจะมีข้อห้ามและบทลงโทษต่างกันไป ขอให้ทุกท่านศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ กม.และบทลงโทษของแต่ละประเทศอย่างละเอียด รายละเอียดติดตามได้ทางเพจเฟซบุ๊กของ กต.หรือ สอท./สกญ. ซึ่ง กต.ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยง  การนำกัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าวไปยังต่างประเทศ

๗. การมอบรางวัล Public Diplomacy Award

กต.และมูลนิธิไทยดำเนินโครงการมอบรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ (Public Diplomacy Award 2022) จำนวน ๑ รางวัล ให้แก่บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ที่ได้ดำเนินกิจกรรมในเชิงการทูตสาธารณะในต่างประเทศในด้านเรื่องต่าง ๆ เช่น การประกอบสาธารณประโยชน์ด้านมนุษยธรรมวัฒนธรรม กีฬา นวัตกรรม เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการทูตสาธารณะ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและเพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างภาพลักษณ์ พลังบวกหรืออำนาจโน้มนำ (soft power) ของไทย

เพื่อส่งเสริมให้ผู้รับรางวัลสามารถดำเนินงานตามเจตนารมณ์ต่อไป หรือเป็นแบบอย่างและแนวทาง ให้แก่ บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นๆ

เพื่อเผยแพร่และสร้างความตระหนักรู้ว่า ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานการทูตสาธารณะ

โครงการดังกล่าวเปิดรับสมัครตั้งแต่ วันนี้ - ๓๑ ส.ค. ๒๕๖๕ และจะประกาศผลและมอบรางวัลในช่วงปลายเดือนกันยายนหรือตุลาคม ศกนี้

ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่รางวัลประกาศนียบัตร เงินรางวัล และได้รับการแต่งตั้งเป็น ?Goodwill Ambassador for Public Diplomacy? รวมทั้งมีบทบาทช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิไทยและ กต.

๘. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

วันพฤหัสบดีที่ ๗ ก.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์ อธ.สารนิเทศและโฆษก กต. ในหัวข้อ ?รมว.กต.จีนเยือนไทยกับจุดยืนของไทย? สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?

ในวันศุกร์ที่ ๘ ก.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายณัฐภาณุ นพคุณ รอธ.สารนิเทศ และรองโฆษก กต. ในหัวข้อ "The Visit of the Minister of Foreign Affairs of China and Thailand?s Position" สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?

คำถาม-คำตอบ

๑. ตามที่เกิดกรณีเครื่องบินเมียนมาล้ำน่านฟ้าไทยบริเวณอำเภอพบพระ จังหวัดตาก เมื่อวันที่ ๓๐ มิ.ย. ที่ผ่านมา ในระหว่างการปะทะกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในฝั่งเมียนมาใกล้กับชายแดนไทย ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีกระสุนตกในฝั่งไทยและสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินและเป็นอันตรายต่อชีวิตของราษฎรไทยในพื้นที่ นั้น กต.ดำเนินการอย่างไรบ้าง

ตอบ: กต.ได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานความมั่นคงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว และได้ดำเนินการประท้วงผ่านช่องทางการทูตแล้ว รวมทั้งได้ย้ำความสำคัญที่ทางการเมียนมาจะต้องดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ ในระหว่างการเข้าร่วมการประชุม รมต.ตปท.ในกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ที่เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา รนรม./รมว.กต.ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับ รมว.กต.เมียนมา ระหว่างการหารือทวิภาคีเมื่อวันที่ ๔ ก.ค. โดยได้แจ้งความกังวลอย่างยิ่งของไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและย้ำความจำเป็นที่ฝ่ายเมียนมาจะต้องป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ซึ่งฝ่ายเมียนมาได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและย้ำว่าไม่ได้เกิดขึ้นโดยเจตนา

๒. ในการหารือระหว่าง รนรม./รมว.กต.กับมนตรีแห่งรัฐ/รมว.กต.จีน ฝ่ายจีนได้ตอบรับในการ

ปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพอย่างไรบ้าง

ตอบ: ในการหารือ รนรม./รมว.กต. ได้หยิบยกเรื่องความร่วมมือในการปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพ call center ซึ่งก่อการอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งฝ่ายจีน ยืนยันว่าจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปราบปรามมิจฉาชีพกลุ่มดังกล่าวต่อไป

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/e3JQSXCqda/

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube ?MFA Thailand Channel?: https://www.youtube.com/user/mfathailand

กองการสื่อมวลชน

กรมสารนิเทศ

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ