บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 12, 2022 14:51 —กระทรวงการต่างประเทศ

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

บันทึกความเข้าใจ

ระหว่าง

รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

กับ

รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา

ว่าด้วย

การส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา (โดยเรียกรวมว่า ?ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย? หรือเรียกแต่ละฝ่ายว่า ?ผู้เข้าร่วม? จากนี้เป็นต้นไป)

โดยตระหนักว่าสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ. ๑๘๓๓ และเอกสารความร่วมมือสืบเนื่องจากสนธิสัญญาดังกล่าว รวมถึงสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ค.ศ. ๑๙๖๖ ได้กระชับมิตรภาพ เสริมสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน และสร้างเวทีเพื่อให้ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศเจริญรุ่งเรือง

โดยประสงค์ที่จะกระชับมิตรภาพและความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ และ

โดยย้ำความสนใจร่วมกันในห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง หลากหลาย และมั่นคง รวมทั้งผลประโยชน์ร่วมกันจากการหารือ การร่วมมือ และการประสานงานเพื่อลดความเปราะบางในห่วงโซ่อุปทานลดภาวะการหยุดชะงัก และเพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงสินค้าสำคัญได้ตลอด

ได้มีความเข้าใจร่วมกัน ดังต่อไปนี้

๑. วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูล การหารือ และการพัฒนาโครงการ เพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกันในห่วงโซ่อุปทานที่โปร่งใส มั่นคง ยั่งยืน หลากหลาย เปิดกว้าง และคาดการณ์ได้ โดยส่งเสริมสาธารณสุข ความมั่นคง และความมั่งคั่งในภาพรวมของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย

๒. ขอบเขตของความร่วมมือ

ทั้งสองฝ่ายยืนยันความตั้งใจที่จะร่วมมือกัน รวมถึงผ่านกิจกรรมในสาขากว้าง ๆ ดังนี้

(๑) การแบ่งปันข้อมูล รวมถึงด้านตลาด ภาวะการหยุดชะงัก ภาวะการขาดแคลน หรือข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ พร้อมทั้งโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านการพัฒนากฎหมาย นโยบาย มาตรฐาน และมาตรการอื่น ๆ ซึ่งอาจเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

(๒) การพัฒนาโครงการร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการดำเนินการที่หลากหลายในวงกว้างโดยภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ และเพื่อลดความเปราะบางที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงความเปราะบางที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดและสภาวะทางสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่รุนแรง ความมั่นคงทางกายภาพและทางไซเบอร์ และการกระจุกตัวทางภูมิศาสตร์ของวัตถุดิบ

ความสามารถในการแปรรูป และการผลิต

(๓) การหารือทวิภาคีโดยเร็ว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาวะการหยุดชะงักของการผลิต การค้า หรือการคมนาคม รวมทั้งยุทธศาสตร์การบรรเทาผลกระทบที่เป็นไปได้ และ

(๔) การหารือกับภาคเอกชน รวมถึงการเชื่อมโยงภาคเอกชนของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการลงทุนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ที่มีศักยภาพเป็นหุ้นส่วนทางการค้า เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้ภาคเอกชนของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายเป็นหุ้นส่วนในการบรรเทาภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

๓. วิธีการดำเนินความร่วมมือ

วิธีการดำเนินความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายอาจรวมถึงการดำเนินความร่วมมือ ดังต่อไปนี้

(๑) การหารือโดยตรงระหว่างเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับประเด็นใหม่ๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวล หรือความเปราะบางที่พบในห่วงโซ่อุปทานโลก และการพัฒนาวิธีการเพื่อรับมือกับข้อห่วงกังวลดังกล่าว

(๒) การพัฒนาวิธีการเพื่ออำนวยให้เกิดความเข้ากันได้ของสินค้าและบริการ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงแค่สาขาสำคัญ อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ยาและเวชภัณฑ์ สินค้าด้านสุขภาพ อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย อุปกรณ์โทรคมนาคม สินค้าพลังงาน และยานพาหนะยุคใหม่

(๓) การพัฒนาโครงการความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาความเป็นไปได้ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานและลดความเปราะบาง รวมทั้งผ่านการส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงชายแดน เครือข่ายคมนาคม ความร่วมมือด้านสาธารณสุข การวิจัยร่วมกัน และความร่วมมือเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

(๔) การพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ความหลากหลาย และความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และ

(๕) การหารือเป็นระยะ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและทบทวนความคืบหน้าภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ แผนยุทธศาสตร์ ความสำเร็จ ตลอดจนความท้าทาย โอกาส และประเด็นที่สำคัญ โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ระบุในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ โดยผู้จัดทำบันทึกความเข้าใจทั้งสองฝ่ายคาดว่าจะจัดการหารือดังกล่าวปีละสองครั้ง หรือตามที่จำเป็น

๔. การดำเนินการและระยะเวลา

(๑) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะเริ่มใช้ได้ในวันที่ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายลงนาม และกำหนดให้มีผลเป็นระยะเวลาห้าปีจากวันดังกล่าว

(๒) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้สามารถขยายระยะเวลาได้โดยการตัดสินใจที่เป็นลายลักษณ์อักษรของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย

๕. การแก้ไขและการสิ้นสุด

(๑) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้สามารถแก้ไขได้ได้โดยการตัดสินใจที่เป็นลายลักษณ์อักษรของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย

(๒) ผู้เข้าร่วมอาจบอกเลิกบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้ทุกเมื่อ โดยแจ้งการบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงผู้เข้าร่วมอีกฝ่าย อย่างน้อยสามสิบ (๓๐) วัน ก่อนการสิ้นสุด

๖. อื่น ๆ

(๑) ผู้เข้าร่วมแต่ละฝ่ายเข้าใจว่าบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีทางกฎหมาย และไม่จำกัดความร่วมมือกับฝ่ายอื่น

(๒) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มิได้มีเจตนาเป็นข้อผูกมัดต่อผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายในการสนับสนุนงบประมาณ หรือการสนับสนุนด้านอื่น ๆ โดยข้อผูกพันในลักษณะดังกล่าวจะระบุอยู่ในการจัดทำความตกลงแยก ซึ่งผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายอาจจัดทำขึ้น นอกจากนี้ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มิได้เป็นข้อผูกมัดให้ผู้เข้าร่วมให้การปฎิบัติที่ได้เปรียบแก่ผู้เข้าร่วมอีกฝ่ายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ กิจกรรมทั้งหมดที่ดำเนินการโดยผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้อยู่ภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย

(๓) ผู้เข้าร่วมแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของฝ่ายตนเองที่เกี่ยวข้องกับบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้

ลงนามในสองฉบับ ณ กรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๒๒ ในภาษาอังกฤษ

          ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย            ในนามรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา

          นายดอน ปรมัตถ์วินัย                       นายแอนโทนี เจ บลิงเกน
          รองนายกรัฐมนตรี                         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ