การเดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ ๗ - ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗

ข่าวต่างประเทศ Friday March 15, 2024 13:15 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ ๗ - ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ โดยมีนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมคณะ ทั้งนี้ สาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในภูมิภาคยุโรปที่นายกรัฐมนตรีเยือนอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๗ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะที่ทำเนียบประธานาธิบดี โดยผู้นำทั้งสองได้แถลงข่าวร่วมต่อสื่อมวลชน แสดงความตั้งใจที่จะเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด ยั่งยืน และรอบด้าน ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมืองและค่านิยมสากล การเปลี่ยนผ่านสีเขียวและดิจิทัล จากนั้นในช่วงการรับประทานอาหารกลางวันซึ่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนฝรั่งเศสให้ร่วมเป็น หุ้นส่วนในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามวิสัยทัศน์ Ignite Thailand โดยเฉพาะด้านการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต การบิน และการขนส่งในภูมิภาค ซึ่งไทยและฝรั่งเศสมีความร่วมมือกันมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การจับคู่ทางธุรกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน การกระชับความร่วมมือด้านกลาโหม ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด ตลอดจนความร่วมมือด้านอากาศยานและเทคโนโลยีอวกาศ นายกรัฐนตรีได้ใช้โอกาสนี้ขอรับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเรื่องการจัดทำความตกลง FTA ไทย-EU การเจรจายกเว้นวีซ่าเขตเชงเกนให้แก่หนังสือเดินทางธรรมดาของไทย และการสมัครเป็นสมาชิก OECD ของไทย รวมทั้งได้หารือในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาคด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสในการเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส หารือกับบริษัทเอกชนชั้นนำของฝรั่งเศสในอุตสาหกรรมแฟชั่น ท่องเที่ยว ยานยนต์และส่วนประกอบ การบินและอวกาศ พลังงานนิวเคลียร์และ พลังงานสะอาด เลนส์สายตาและกรอบแว่นตา ห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีกสินค้าเอเชีย การแข่งขันรถแข่ง ฟอร์มูล่าวันและฟอร์มูล่าอี ฯลฯ รวมมากกว่า ๒๐ บริษัท ซึ่งล้วนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ไทยและฝรั่งเศสต่างเป็นคู่ค้าคู่ลงทุนที่สำคัญ โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๓ ของฝรั่งเศสในอาเซียน ในขณะที่ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าอันดับ ๓ ของไทยในสหภาพยุโรป นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า มูลค่าการค้าและการลงทุนเหล่านี้จะเพิ่มพูนขึ้นอีกมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองฝ่ายสรุปความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-EU ได้ในปี ๒๕๖๘ นอกจากนี้ ไทยได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะขอเข้าเป็นสมาชิก OECD แล้ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจของไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ในระหว่างการเข้าร่วมมหกรรมอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติ MIPIM 2024 เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ ณ เมืองคานส์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวคำปราศรัยในหัวข้อ Better Infrastructure in an Age of Risk, Scarcity and Emergency ซึ่งกล่าวถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย การยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคผ่านการสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงศักยภาพของโครงการแลนด์บริดจ์ในฐานะทางเลือกใหม่ที่จะยกระดับการเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเล ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อให้ทุกธุรกิจที่ลงทุนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ ทำให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบของความก้าวหน้า

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน Re-Invest Summit Lunch และกล่าว สุนทรพจน์ แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาลถึงศักยภาพด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทยและเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องกว่าร้อยละ ๓๐ ในอีก ๕ ปีข้างหน้า พร้อมกล่าวย้ำว่า ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจอย่างเต็มที่ และไม่มีเวลาใดที่จะดีไปกว่านี้อีกแล้วในการลงทุนในประเทศไทย อนึ่ง ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดและยาวนานกว่า ๓ ศตวรรษ โดยปีหน้า จะครบรอบ ๓๔๐ ปีของการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างสยามและฝรั่งเศส และในปี ๒๕๖๙ ทั้งสองฝ่ายมีแผนจะเฉลิมฉลองการครบรอบ ๑๗๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ