คำกล่าวพิธีเปิดการสัมมนา “1 ปีกับ JTEPA” โดยรมว.ต่างประเทศ ณ โรงแรม Grand Millennium Sukhumvit

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 6, 2008 11:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

คำกล่าวพิธีเปิดการสัมมนา “1 ปีกับ JTEPA” โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ ห้อง Grand Ballroom โรงแรม Grand Millennium Sukhumvit วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 เวลา 09.00 - 09.10 น.

ท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ

ท่านผู้เข้าร่วมการสัมมนา

เมื่อวาน ไทยกับญี่ปุ่นได้จัดประชุมคณะกรรมการร่วม หรือ Joint Committee ในเรื่องหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ก็ได้ช่วยกันตรวจสอบ จับชีพจรกันว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย — ญี่ปุ่น หรือ “JTEPA” ที่ใช้กันมา 1 ปี คืบหน้า ติดขัดอะไรกันบ้าง เปรียบได้กับเด็กที่เริ่มหัดเดิน ต้องคอยดูแล เป็นการคุยกันตามกรอบ ตามกลไกของภาครัฐ ผมเห็นว่า ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะดึงภาคเอกชนเข้ามา จึงได้ขอให้จัดสัมมนานี้ขึ้นให้ต่อเนื่องกับการประชุมคณะกรรมการร่วม ให้ภาครัฐกับเอกชนมาคุยกัน มาช่วยกันทำงาน

เพราะท่านคือ ผู้ใช้ประโยชน์จากความตกลง เป็น “ห้องเครื่อง” ที่จะขับเคลื่อนผลประโยชน์ของประเทศชาติไปข้างหน้า ผมไม่อยากให้ “JTEPA” ที่เจรจากันมาเกือบ 5 ปี เป็นเพียงความตกลงหนา ๆ ที่ไม่มีใครเข้าใจ ใช้ประโยชน์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

วันนี้ จึงอยากให้ท่านทั้งหลายได้มาฟัง มาช่วยกันคิด มาช่วยกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ได้คุยกันอย่างเปิดอก

สิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นหลังการสัมมนาในวันนี้ คือ ท่านที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไรจาก “JTEPA” มีการบ้านอะไร ข้อติดขัด ข้องใจอย่างไร ก็ขอให้ช่วยกันฝากภาครัฐไปผลักดัน ไปเจรจาต่อ ตามกรอบความตกลง ก็ขอให้แลกเปลี่ยนกัน ผลและมุมมองของการสัมมนาในวันนี้ ผมก็จะขอให้ทำสรุปเสนอรัฐบาล ให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ทราบ

ขอออกตัวว่า ผมค่อนข้างใหม่กับเรื่อง JTEPA แต่เป็นเรื่องที่ผมสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่ผมเป็นประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินการตามความตกลงฉบับนี้ ต้องดูแลกลไกคณะทำงานย่อย อีก 19 คณะ ซึ่งก็เรียกได้ว่าดูแลโดยตรง

และเมื่อเห็นตัวเลขเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นแล้ว ผมอยากจะถ่ายทอดให้ท่านทั้งหลายได้ เห็นภาพ เป็นการเรียก ”น้ำย่อย” ก่อนการสัมมนา

ญี่ปุ่นเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นประมาณร้อยละ 15.90 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด 10 เดือนหลังจาก “JTEPA” มีผลใช้บังคับ คือ จากเมื่อ 1 พฤศจิกายนปีที่แล้วถึงประมาณเดือนกันยายนปีนี้ มูลค่าการค้ารวมประมาณ 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 18.95 สินค้าไทยส่งออกไปญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.38 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.94

จริงอยู่หากดูแต่เพียงตัวเลขการค้าในภาพรวม ไทยยังขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น แต่เมื่อจำแนกมูลค่าการค้าจากการใช้สิทธิภายใต้ “JTEPA” ไทยได้ดุลจากญี่ปุ่นอยู่ถึง 114,254.43 ล้านบาท ซึ่งแสดงว่า “JTEPA” ให้ประโยชน์กับผู้ประกอบการไทย

ในด้านการลงทุนก็เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นร้อยละ 37.25 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด โดย 11 เดือนภายหลังจากที่ “JTEPA” มีผลใช้บังคับ มูลค่าการลงทุนรวม 128,563 ล้านบาท กระโดดขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 27.41

ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในช่วงภาวะถดถอย แต่จากตัวเลขที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ทำให้เรามั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า การจัดทำความตกลง “JTEPA” ระหว่างกันได้ก่อให้เกิดการขยายตัวทั้งภาคการค้าและการลงทุนเป็นอย่างมาก

          รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์ภายใต้ “JTEPA” เป็นอย่างดี จึงได้ตั้งคณะทำงานย่อยที่ผมเรียนให้ทราบไปแล้ว 19 คณะ ครอบคลุมสาขาความร่วมมือต่าง ๆ อย่างครบถ้วนตามข้อบทความตกลง เช่น เรื่องการค้าสินค้า  การค้าบริการ การเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน การเกษตร SME พลังงาน วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ICT        การเคลื่อนย้ายคน  การท่องเที่ยว

คณะทำงานต่าง ๆ หรือเรียกกันทางการว่า คณะอนุกรรมการทั้ง 19 คณะ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการต่างประเทศ ก็จะทำหน้าที่เหมือนเป็นกลไกตรวจสอบให้การใช้ประโยชน์จาก “JTEPA” เป็นไปอย่างเต็มที่

สิ่งที่ผมเน้นให้ความสำคัญ และก็ฝากให้ท่านรองปลัดจริย์วัฒน์ผลักดันกับญี่ปุ่นคือ จะทำอย่างไรที่จะให้ทั้งสองฝ่ายเข้าเกียร์ 5 เดินหน้าเรื่องความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนใน 7 สาขา คือ เรื่องยานยนต์ เรื่องสิ่งทอ เรื่องครัวไทยสู่โลก เรื่องเหล็ก เรื่องเศรษฐกิจสร้างมูลค่า เรื่องหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน และเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน

ฝากไปแล้วว่า ให้มาคุยกันอย่างน้อยปีละครั้ง อะไรที่สัญญากันไว้ว่าจะช่วยกันร่วมมือ ก็ต้องเดินหน้า

อีกเรื่องหนึ่งที่ได้พูดเปิดประเด็นไว้เมื่อวานนี้คือ เรามีปัญหาเทคนิคในสินค้าบางตัวที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ด้านสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ “JTEPA” ก็บอกให้ญี่ปุ่นมาหารือเพื่อช่วยกันหาทางออก เขาเองก็มีปัญหาเรื่องสินค้าบางตัวที่ขลุกขลัก ก็ได้มีการหยิบยกไว้เช่นกัน

ความร่วมมือด้านการเกษตรก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรหลักของประเทศ

รัฐบาลตระหนักถึงเรื่องมาตรการความปลอดภัยด้านอาหาร หรือ Food Safety เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามเกณฑ์ที่ญี่ปุ่นกำหนด ยกตัวอย่างเช่น ไก่สดแช่แข็ง ซึ่งไทยได้ยกเว้นภาษีเหลือ 8.5% ภายใน 5 ปี แต่ก็ติดเรื่องปัญหาไข้หวัดนก จึงต้องผลักดันให้คุยกันกับฝ่ายญี่ปุ่นในเวที Food Safety เป็นการเฉพาะ เราต้องสร้างมาตรฐาน สร้างความมั่นใจในสินค้าไทย ควบคู่กันไป และก็เพื่อให้ไทยสามารถเปิดตลาดสินค้าเกษตรใหม่ ๆ เช่น ส้มโอ รวมทั้งการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคญี่ปุ่นในสินค้าที่ชาวญี่ปุ่นนิยมชมชอบ เช่น มะม่วง และ มังคุด อีกทั้ง รัฐบาลยังได้ส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ของทั้ง 2 ประเทศ ให้มีการค้าขายระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดที่ผมเรียนมานี้ ก็ล้วนเป็นเรื่องที่รัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดไม่ได้นิ่งนอนใจ ต้องการผลักดันให้ “JTEPA” ก่อประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อสังคมไทย ต่อเศรษฐกิจไทย

จึงขอฝากให้ทุกท่านในที่นี้ ช่วยกันคิดว่า “JTEPA” ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นความตกลงทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ที่สุดฉบับหนึ่งที่ไทยเคยมีมา จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของท่านได้อย่างไร

สุดท้ายนี้ ผมมีความมั่นใจว่า วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่เราได้เชิญมาอยู่ ณ ที่นี้ จะสามารถถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ ในสาขาต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญให้ท่านทั้งหลายได้อย่างเต็มที่ และขอขอบคุณทุกท่านที่ได้สละเวลามาร่วมการสัมมนาในวันนี้

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ