ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 9

ข่าวต่างประเทศ Monday December 8, 2008 10:13 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2551 นายนรชิต สิงหเสนี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และนายจักริน ฉายะพงศ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้ร่วมแถลงข่าวเรื่องผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 9 (9MSP) ณ นครเจนีวา ระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2551 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ที่ประชุมฯ อนุมัติการขอขยายระยะเวลาการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทยออกไปอีก 9 ปีครึ่ง จากกำหนดเดิมตามอนุสัญญาฯ (จาก 1 พฤษภาคม 2552 ถึง 1 พฤศจิกายน 2561) เนื่องจากไทยไม่สามารถดำเนินการได้ทันอันเนื่องมาจากอุปสรรคต่างๆ นอกจากนี้ ไทยยังได้กล่าวเน้นถึงบทบาทอันแข็งขันของไทยในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดและเจตนารมย์ของรัฐบาลไทยที่ยึดมั่นและปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ

ในส่วนของเหตุการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชานั้น ฝ่ายไทยได้ใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและขอรับการสนับสนุนการดำเนินการของไทยจากรัฐภาคี โดยกล่าวถึงการที่ไทยได้ยื่นหนังสือประท้วงโดยตรงต่อกัมพูชา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 ภายหลังเหตุการณ์ที่ทหารพราน 2 นายของไทยเหยียบทุ่นระเบิดที่วางใหม่เมื่อ 6 ตุลาคม 2551 แต่กัมพูชาได้เลือกที่จะเวียนหนังสือต่อรัฐภาคีทุกประเทศแทนที่จะตอบไทยโดยตรง ไทยรู้สึกผิดหวังที่กัมพูชาส่งหนังสือตอบให้ไทยในนาทีสุดท้ายของคืนวันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2551 ก่อนการประชุมฯ และหนังสือดังกล่าวมิได้ตอบข้อสงสัยของไทยแต่อย่างใด หากแต่เป็นการหลีกเลี่ยงประเด็นที่ไทยสอบถาม โดยได้ยกประเด็นอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือกรอบอนุสัญญาฯ โดยเฉพาะเรื่องเขตแดน ซึ่งอยู่ภายใต้กลไกทวิภาคีที่เหมาะสมอยู่แล้ว ทั้งนี้ ไทยจึงมีความรู้สึกว่าประเด็นหลักที่ควรชี้แจงต่อที่การประชุมครั้งนี้มิใช่คำถามว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน แต่เกิดขึ้นได้อย่างไรและเพราะเหตุใด

ไทยมิได้มีเจตนากล่าวหารัฐภาคีรัฐใดรัฐหนึ่งหรือทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง และได้พยายามใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างถึงที่สุดก่อนที่จะมีข้อสรุปใดๆ โดยไทยได้เลือกที่จะดำเนินการขอความกระจ่างจากกัมพูชาในระดับทวิภาคีผ่านการยื่นหนังสือดังกล่าวก่อน นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายกัมพูชาที่ขอให้การไต่สวนของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2551 เสร็จสิ้นเสียก่อน อย่างไรก็ดี ไทยก็พร้อมที่จะพิจารณาทางเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างประเทศ (international fact finding team) โดยคณะตรวจสอบดังกล่าวจะต้องมีอาณัติที่ชัดเจน รวมทั้งมีฝ่ายที่สามและองค์กรภาคเอกชนเข้าร่วม

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ