แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมระหว่างกันในอาเซียน ชะอำ หัวหิน ประเทศไทย 24 ตุลาคม 2552

ข่าวต่างประเทศ Monday October 26, 2009 14:57 —กระทรวงการต่างประเทศ

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมระหว่างกันในอาเซียนชะอำ หัวหิน ประเทศไทย 24 ตุลาคม 2552

1. ประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้หารือถึงแนวคิดเรื่องการเพิ่มพูนความเชื่อมโยงในอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ณ ชะอำ หัวหิน ในวันที่ 24 ตุลาคม 2552

2. ผู้นำมีข้อสังเกตว่าอาเซียนตั้งอยู่ในใจกลางของภูมิภาคที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีอินเดียทางทิศตะวันตก จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ทางทิศใต้ ดังนั้น อาเซียนจึงมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการท่องเที่ยวของภูมิภาคนี้

3. การเสริมสร้างการเชื่อมโยงในอาเซียนและในอนุภูมิภาคจะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนา และโดยที่การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางบกจะต้องผ่านพื้นแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า จะได้รับประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากจะทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ห่างไกลและ มีการพัฒนาน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาคนี้ได้อย่างทั่วถึง อันจะเป็นการช่วยลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียนได้เป็นอย่างดี

4. นอกเหนือจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงภายในอาเซียนแล้ว การเชื่อมโยงดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียน ไม่เพียงแต่ในเรื่องของการรวมตัวในระดับภูมิภาค แต่รวมถึงการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน ในการนี้ แนวคิดของอาเซียนในเรื่องการเชื่อมโยงโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานจึงจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนความพยายามในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง บนพื้นฐานของการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในปี 2558 ต่อไป

ในการที่จะบรรลุซึ่งเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น บรรดาผู้นำเห็นพ้องกันว่า

5. การดำเนินการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางถนน รถไฟ ทางอากาศ และทางทะเลเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น โครงการทางหลวงอาเซียนและเส้นทางรถไฟสิงคโปร์-คุณหมิง และการปรับปรุงมาตรฐานของกฎระเบียบใต้กรอบความร่วมมือในอาเซียนที่มีอยู่ และโดยที่อินเตอร์เน็ตมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในภาคธุรกิจ การศึกษา และการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการตามแผนแม่บทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้แล้วเสร็จในปี 2553 ต่อไปด้วย

6. การขยายโครงข่ายการเชื่อมโยงในภูมิภาค จะเป็นปัจจัยช่วยเสริมสร้างสถานะและการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งจะมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นผ่านการขยายการเชื่อมโยงไปสู่มิตรประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคในระยะยาวต่อไป ในการนี้ ผู้นำจึงมั่นใจว่าแนวคิดของการส่งเสริมการเชื่อมโยงของอาเซียน จะสามารถเอื้ออำนวยและสนับสนุนการรวมตัวในกรอบอาเซียนและกรอบความร่วมมือต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกต่อไป

7. อาเซียนควรระดมการสนับสนุนจากประเทศคู่เจรจา หน่วยงานระหว่างประเทศ รวมถึงหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อให้บรรลุซึ่งวิสัยทัศน์ของการเพิ่มพูนความเชื่อมโยงในอาเซียน ซึ่งรวมถึงการระดมความสนับสนุนในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอาเซียน นอกจากนี้ อาเซียนควรหาวิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากกองทุนความร่วมมือที่มีอยู่แล้วกับประเทศคู่เจรจาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และต้อนรับความร่วมมือกับภาคีอื่นๆ ที่มีความสนใจจะร่วมมือกับอาเซียนในเรื่องนี้

8. ผู้นำตกลงให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงของอาเซียน ซึ่งจะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักเลขาธิการอาเซียนและคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง องค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (เอ็สแคป) และ สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (อีเรีย) เพื่อทำการศึกษาระดับการเชื่อมโยงทั้งภายในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่นๆ และจัดทำแผนแม่บทอาเซียนว่าด้วยเรื่องการเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมถึงพิจารณารูปแบบกลไกสนับสนุนทางการเงินด้วย ในการดำเนินการดังกล่าว คณะทำงานจะต้องคำนึงถึงแผนงานและการดำเนินงานที่มีอยู่แล้วเพื่อมิให้เกิดการซ้ำซ้อน นอกจากนี้ ในการจัดทำแผนแม่บท คณะทำงานฯ ควรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจากอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ คณะทำงานระดับสูงของอาเซียนควรหารือและปรึกษากับคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ก่อนที่จะนำเสนอผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ในปี 2553 ผ่านคณะมนตรีประสานงานอาเซียนต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ