แถลงการณ์ชะอำ หัวหิน ว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

ข่าวต่างประเทศ Tuesday October 27, 2009 11:45 —กระทรวงการต่างประเทศ

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

เรา ประมุขแห่งรัฐ/ หัวหน้ารัฐบาลประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และ นิวซีแลนด์ ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 4 ที่ชะอำ หัวหิน ประเทศไทย ในวันที่ 25 ตุลาคม 2552

แสดงความเสียใจ ต่อการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และความเป็นอยู่ อันเป็นผลกระทบจากภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นกับประเทศที่เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกและในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อผลที่ตามมาในเชิงลบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบรรลุถึงความสำเร็จของการดำเนินยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาที่ได้รับความเห็นชอบระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และกระบวนการรวมตัวกันในภูมิภาค

          ยืนยัน ในข้อผูกพันของประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เพื่อลดความเสี่ยง    ด้านภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิผล โดยยึดหลักการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อลด ความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางลบ และเพิ่มพูนความสามารถของประชาชนให้มีความตื่นตัว    และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในการลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติ และอ้างถึงการกำหนดให้การลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติเป็นหนึ่งในลำดับงานที่มีความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม 2550
          อ้างถึง หลักการและข้อเสนอแนะของเอกสารกรอบการทำงานระหว่างประเทศและภูมิภาคที่สำคัญ  ในเรื่องการลดความเสี่ยงและการจัดการภัยพิบัติ อาทิ กรอบปฏิบัติการเฮียวโก พ.ศ. 2548-2558 ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แผนปฏิบัติการปักกิ่ง เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในเอเชีย พ.ศ. 2548 ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์     ว่าด้วยการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก พ.ศ. 2548 แถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2549 และปฏิญญาเดลีว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในเอเชีย    พ.ศ. 2550 และข้อมติของการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติสมัยสามัญที่เกี่ยวข้อง

ยืนยัน การสนับสนุนเพื่อคงไว้และพัฒนาแนวทาง กลไกและความสามารถต่าง ๆ ในภูมิภาคเรื่อง การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงการเตือนภัยล่วงหน้าก่อนเกิดภัยพิบัติ และตระหนักในความพยายามของอาเซียนในกรอบคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งข้อริเริ่มอื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการลดความเสี่ยงและการจัดการภัยพิบัติ

ตระหนัก ในความร่วมมืออย่างแข็งขันและข้อริเริ่มต่าง ๆ ในระดับภูมิภาคของอาเซียน และยินดีกับบทบาทนำของอาเซียนผ่านกลไกประสานความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งมีอาเซียนเป็นผู้นำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กิส ในสหภาพพม่า

ตระหนัก ในบทบาทหลักของรัฐในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและการจัดการกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ รวมทั้งความสำคัญของความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนบทบาทดังกล่าวของรัฐ

ตระหนักถึง ความพยายามที่สำคัญขององค์การระดับภูมิภาค รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ภาคประชาสังคมและองค์การอื่น ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการ ภัยพิบัติ ความจำเป็นที่จะคงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการจัดการที่มีอยู่แล้ว และความสำคัญของการหลีกเลี่ยงการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันรวมทั้งการประสานความพยายามดังกล่าวให้สอดคล้องกันยิ่งขึ้น

ยินดี กับการจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างออสเตรเลียและอินโดนีเซียเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติซึ่งจะช่วยส่งเสริมความพยายามในการลดความเสี่ยงภัยจากภัยพิบัติที่มีอยู่แล้ว และสร้างขีดความสามารถระดับประเทศและระดับภูมิภาคในการจัดการภัยพิบัติ

ย้ำถึง ความสำคัญของการรับรองแนวทางแบบบูรณาการและครอบคลุมรอบด้านในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการจัดการภัยพิบัติ และการผนวกเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติไว้ในนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับประเทศ การวางแผนและการปฏิบัติงานทุกระดับในประเด็นที่สำคัญ เช่น ความยากจน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรน้ำ สุขอนามัย พลังงาน สาธารณสุข เกษตรกรรม การศึกษา โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม

ตระหนัก ว่าชุมชนเป็นด่านแรกที่ต้องเผชิญและรับมือกับภัยพิบัติ ดังนั้น จึงควรมุ่งเน้นความสำคัญของการทำให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในทุก ๆ ด้านของการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยการเตรียมความพร้อมในระดับชุมชน การลดผลกระทบ การรับมือกับภัยพิบัติ และการฟื้นตัวของชุมชน โดยเฉพาะในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

จะพยายามดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. สนับสนุน ความพยายามในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งในระดับนโยบาย การวางแผน ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ระบบที่มีอยู่แล้ว การฝึกอบรมประชาชนและความเชื่อมโยงกันระหว่างกลไกที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ศักยภาพดังกล่าวควรต้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ เพื่อให้การตอบสนองต่อภัยพิบัติในภูมิภาคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2. ร่วมมือ กันพัฒนาศักยภาพของการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและการลดความเสี่ยงจาก ภัยพิบัติให้ครอบคลุมภัยพิบัติหลาย ๆ ด้านและที่ไม่มีขอบเขต รวมถึงระบบการเตือนภัยล่วงหน้าและความสามารถของการตอบสนองต่อภัยพิบัติในภูมิภาค และเสริมสร้างเครือข่ายศูนย์การจัดการภัยพิบัติทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับภูมิภาค โดยร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลเตือนภัยที่ทันเวลา เชื่อถือและเข้าใจได้ และการให้ความช่วยเหลือกับชุมชนที่มีความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติต่อประชาชนในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

3. ร่วมมือ กันสนับสนุนกองทุนโดยความสมัครใจของประเทศผู้บริจาคในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการจัดการเตือนภัยล่วงหน้าในมหาสมุทรอินเดียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ เพื่อประกันแนวทางที่ประสานความร่วมมืออย่างรอบด้านในการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคสำหรับการเตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งเสริมสร้างความสามารถในการเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิล่วงหน้าในลักษณะครอบคลุม

4. สนับสนุน ความพยายามของอาเซียนในการส่งเสริมบทบาทการประสานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการมีบทบาทนำในการตอบสนองต่อสถานการณ์ภัยพิบัติร้ายแรง โดยเฉพาะการพัฒนาความเชื่อมโยงและ/หรือกำหนดทรัพยากรและขีดความสามารถตามความสมัครใจอย่างเหมาะสมสำหรับ การเตรียมความพร้อมในระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมในการบรรเทาภัยพิบัติและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน และ/หรือการพัฒนาแนวปฏิบัติและกลไกร่วมที่เหมาะสมโดยรวมกลไกการประเมินความต้องการของผู้ประสบภัยพิบัติเพื่อให้การเคลื่อนย้ายทรัพยากรและความสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

5. ร่วมมือ กันเพื่อเสริมสร้างการจัดการและความพยายามด้านการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูภายหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงการให้ความช่วยเหลือภายหลังเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือจากการบรรเทาภัยพิบัติไปสู่การฟื้นฟูเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำและองค์การอื่น ๆ ในภูมิภาค

6. ร่วมมือ กันเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลต่าง ๆ ในการจัดทำและผนวกเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา การวางแผนและกำกับด้านนโยบาย และการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของภัยพิบัติ รวมถึงการเสริมสร้างความสามารถในการจัดการภัยพิบัติโดยผ่านการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้เชิงเทคนิค แผนการศึกษาและฝึกอบรมสำหรับ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเข้าถึงสถิติและข้อมูลที่เกี่ยวข้องและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการจัดการองค์กรโดยรวมองค์กรของชุมชนท้องถิ่น

7. ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการพัฒนาเครื่องมือและแนวทางในระดับชุมชนที่มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการจัดการภัยพิบัติโดยการกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมที่ตระหนักถึงความปลอดภัย การป้องกันและการสร้างความตระหนักรู้กับสาธารณชนเกี่ยวกับการลดอันตราย ความเสี่ยงและประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงในระดับโรงเรียน ชุมชน หน่วยงานของรัฐบาล และในหมู่สาธารณชน เพื่อเพิ่มความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น

8. ร่วมมือ เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลต่าง ๆ ในการกำหนดกฏหมายที่เกี่ยวข้องและการพัฒนาความสามารถ ในการบังคับใช้กฎหมายด้านการใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้และน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบด้านลบที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมและในทางกลับกัน

9. ทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ประสบการณ์และคู่มือการปฏิบัติงาน ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติในระบบการเตือนภัยและให้ความช่วยเหลือ เช่น ผ่านกรอบความร่วมมือภายใต้การฝึกซ้อมแผนการเผชิญภัยพิบัติฉุกเฉินระดับภูมิภาค และกรอบการซ้อมปฏิบัติงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในระดับประเทศ และการพัฒนาการประสาน ด้านการจัดการภัยพิบัติระดับภูมิภาค รวมถึงการประสานกับระบบขององค์การสหประชาชาติ

10. สนับสนุน การปฏิบัติการและการเพิ่มพูนแนวปฏิบัติให้ได้มาตรฐานเดียวกัน เช่น มาตรฐานวิธีปฏิบัติสำหรับระบบเตรียมความพร้อมและการประสานงานร่วมทางด้านบรรเทาภัยพิบัติและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินระดับภูมิภาคของอาเซียน และสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกับแนวปฏิบัติด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งการนำแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานนั้นไปใช้เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดของศูนย์เตือนภัยและศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคกับศูนย์ภายนอกภูมิภาค

11. ทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านเทคนิคเกี่ยวกับการจัดการการเตือนภัยล่วงหน้าในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และการจัดการเตือนภัยต่างๆ เพื่อปรับปรุงวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคเพื่อประเมินความเสี่ยง การเฝ้าระวัง และข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้า

12. สนับสนุน การปฏิบัติงานของศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ และเสริมสร้างขีดความสามารถของศูนย์ในการประสานการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือระหว่างการเกิดภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเป็นองค์กรนำด้านเทคนิคในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในภูมิภาค

13. สนับสนุน ความพยายามขององค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค อาทิ ศูนย์บรรเทาภัยพิบัติแห่งเอเชีย และศูนย์เตรียมความพร้อมในการป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย รวมทั้งศูนย์ออสเตรเลีย-อินโดนีเซียเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และศูนย์อื่น ๆ ในภูมิภาค ในการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและสร้างขีดความสามารถในการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติของภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้านในภูมิภาคเรื่องการลดความเสี่ยงและการจัดการภัยพิบัติ โดยรวมองค์กร ต่าง ๆ อาทิ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ และสนับสนุนข้อเสนอของจีนในการจัดตั้งศูนย์วิจัยศึกษาระดับภูมิภาคเรื่องภัยพิบัติร้ายแรงในเอเชีย

14. สนับสนุน หลักสูตรการฝึกอบรมและเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความสามารถของประเทศที่เข้าร่วมการประชุม สุดยอดเอเชียตะวันออกในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดตั้งการเชื่อมโยงศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของศูนย์เหล่านั้น ในการดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ

ทั้งนี้ ให้ดำเนินงานที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวข้างต้น โดยผ่านกลไกความร่วมมือที่มีอยู่ของอาเซียนและในภูมิภาค และโดยการหารืออย่างใกล้ชิดกับประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

รับรองที่ชะอำ หัวหิน ประเทศไทย ในวันที่ ยี่สิบห้า ตุลาคม พุทธศักราช สองพันห้าร้อยห้าสิบสอง

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ