รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรรยายให้แก่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเยอรมนี และพบหารือกับมูลนิธิการเมืองต่างๆ

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 8, 2010 15:57 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้บรรยายในหัวข้อ “ประเทศไทยภายหลังวิกฤตการณ์ และหนทางเบื้องหน้า” ที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเยอรมนี (German Council on Foreign Relations หรือ DGAP) ณ กรุงเบอร์ลิน ในระหว่างการเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ

ในการบรรยายถึงความเป็นมาของปัญหาทางการเมืองไทยในปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถึงความขัดแย้งในกรณี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกตั้งข้อหาในการใช้อำนาจโดยมิชอบ การคอรัปชั่น และมีพฤติกรรมที่มีแนวโน้มเป็นเผด็จการมากขึ้น ภายหลังจาก พ.ต.ท. ทักษิณฯ พ้นจากตำแหน่งโดยการแทรกแซงของฝ่ายทหารเมื่อปี 2549 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ พ.ต.ท. ทักษิณฯ มีความผิดในกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนจริง และต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งต่อมา พ.ต.ท. ทักษิณฯ ได้เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการต้องรับโทษ

สำหรับเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่ม "เสื้อแดง" ที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีได้พยายามใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญเพื่อบังคับให้รัฐบาลยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ โดยเชื่อว่ากลุ่มของตนจะได้รับชัยชนะ และจะสามารถนิรโทษกรรมอดีตนายกรัฐมนตรีได้ ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุน "ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี" ที่ต้องการให้ไทยเป็นประเทศในลักษณะ “พรรคการเมืองเดียว” กับกลุ่มผู้สนับสนุน “ประชาธิปไตยแบบเสรี" ที่ต้องการประเทศไทยยังคงเป็นระบบรัฐสภาแบบหลายพรรคการเมือง แม้ว่าการชุมนุมจะมีการใช้ความรุนแรง รวมถึงกองกำลังติดอาวุธ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากประชาชนไม่ได้สนับสนุนแนวคิด “สาธารณรัฐนิยม” และต้องการที่จะแก้ไขความขัดแย้งผ่านการเจรจาและแผนปรองดองของนายกรัฐมนตรี

ขณะนี้ แผนปรองดองดังกล่าวมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปเพื่อรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม การส่งเสริมให้สื่อมวลชนปฏิบัติงานในแนวทางที่สร้างสรรค์ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รัฐมนตรีว่าการฯ เชื่อมั่นว่า คณะกรรมการเหล่านี้จะสามารถนำเสนอข้อคิดเห็นได้ภายในปลายปีนี้ อันจะนำไปสู่การสำรวจประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในต้นปี 2554 รวมถึงการจัดการเลือกตั้ง และรัฐบาลชุดใหม่ภายในกลางปีหน้าด้วย

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้พบหารือกับมูลนิธิการเมืองต่างๆ ของเยอรมนี (stiftungs) ได้แก่ มูลนิธิ Konrad Adenauer มูลนิธิ Heinrich B?ll มูลนิธิ Friedrich-Ebert มูลนิธิ Wissenschaft und Politik และมูลนิธิ Friedrich-Naumann รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวขอบคุณมูลนิธิเหล่านี้ที่ในช่วงที่ผ่านมา ได้ให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือแก่ประเทศไทยในการสนับสนุนประชาธิปไตยในประเด็นต่างๆ อาทิ การกระจายอำนาจ การเลือกตั้งท้องถิ่น และการจัดตั้งองค์กรอิสระ แม้ว่าประเทศไทยได้ผ่านพ้นการได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาจากเยอรมนีแล้ว แต่ไทยยังคงต้องการที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ (best practices) ของเยอรมนี ในการเสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตย และส่งเสริมประเด็นต่างๆ อาทิ ธรรมาภิบาล และการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมือง อีกประเด็นที่สำคัญคือ การศึกษาประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในวันเลือกตั้ง แต่ยังรวมถึงเรื่องการตรวจสอบ ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล คุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมือง ในการนี้ มูลนิธิการเมืองต่างๆ ได้แสดงการสนับสนุนกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย และพร้อมที่จะร่วมกับไทยในการส่งเสริมระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมืองในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ