คลังเพิ่มมาตรการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยครอบคลุมทุกกลุ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 9, 2010 09:40 —กระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังเพิ่มมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2553 ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยให้ธนาคารในสังกัด คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อนุมัติสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายจากอุทกภัย ทั้งประชาชนผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ผู้ประกอบการ และเกษตรกร

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารทั้งสามแห่งจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน โดยให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือบุคคลผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยและวาตภัยในปี 2553 วงเงิน 2,000 ล้านบาท แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยและวาตภัยในปี 2553 เพื่อใช้ปรับปรุง ซ่อมแซมอุปกรณ์ในการประกอบการ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยให้วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ตามความจำเป็นและความสามารถในการผ่อนชำระ ส่วนประเภทของสินเชื่อจะเป็นแบบเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ไม่ต้องมีหลักประกัน (Clean Loan) ซึ่งธนาคารจะคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ร้อยละ 0.5 ต่อเดือน ตลอดอายุสัญญากู้ สิ้นสุดวันรับคำขอกู้ 31 มกราคม 2554

ส่วน เอสเอ็มอีแบงก์ ให้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในปี 2553 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อวงเงิน 5,000 ล้านบาท แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นบุคคลธรรมดา (ไม่จำกัดอายุ) หรือนิติบุคคลที่มีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย วาตภัย และโคลนถล่มในปี 2553 ตามประกาศของทางราชการ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อใช้ปรับปรุง ซ่อมแซม ฟื้นฟูกิจการและเป็นเงินทุนหมุนเวียน ให้วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1,000,000 บาท ตามความจำเป็นของกิจการ สิ้นสุดวันรับคำขอกู้ 30 เมษายน 2554

ประเภทของสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์จะเป็นเงินกู้ยืมแบบไม่ต้องมีหลักประกัน(clean loan)มีระยะเวลา (Term Loan) สูงสุดไม่เกิน 6 ปี ระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) 2 ปี คิดดอกเบี้ยอัตราคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี ตลอดอายุสัญญากู้ และจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมวิเคราะห์โครงการ ยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดทำสัญญาเงินกู้ รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียมชำระคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนด (Prepayment Fee)

นายกรณ์ กล่าวว่า ทาง ธ.ก.ส.ก็ได้อนุมัติโครงการให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เช่นกัน โดยให้เงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท ลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี กำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรลูกค้าโดย ธ.ก.ส.จะลดหย่อนหลักประกันการกู้เงินจากหลักเกณฑ์ปกติ ดังนี้ กรณีกู้เงินโดยจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน ให้ขยายวงเงินกู้จากที่กู้ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของวงเงินจดทะเบียนจำนอง เป็นให้กู้ได้ไม่เกินวงเงินจดทะเบียนจำนอง และในกรณีกู้เงินโดยใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ให้ขยายวงเงินในการประกันจากรายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในกรณีที่ต้องการวงเงินมากกว่า 100,000 บาทและต้องกู้มากกว่า 3 ปี โดย ธ.ก.ส.ผ่อนผันเงื่อนไขทั้งอัตราดอกเบี้ยและหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นพิเศษกว่าปกติ

“กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่ามาตรการสินเชื่อดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างครอบคลุมทุกภาคส่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูให้กลับมาประกอบอาชีพและใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้โดยเร็ว” นายกรณ์ กล่าวในท้ายที่สุด

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 142/2553 8 ธันวาคม 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ