บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง ท่องเที่ยวแกร่งท่ามกลางปีเสือดุ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 31, 2011 10:25 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

ภาพรวมของการท่องเที่ยวปี 2553 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งสิ้น 15.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12.0 โดย สศค.คาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 6.27 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ ททท.ตั้งไว้ในปี 2553 ที่ 14.5 ล้านคน และสูงกว่าเป้า รายได้ 5.30 แสนล้านบาท สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวไทย ถึงแม้ว่าจะมีเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศเกิดขึ้นตลอดทั้งปี ทั้งจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและบางพื้นที่ในต่างจังหวัด ช่วงเดือนเมษายนพฤษภาคม 2553 การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในช่วงเดือนกันยายน 2553 ต่อเนื่องด้วยการเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ช่วงเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน 2553 ต่อเนื่องด้วยกระแสข่าว สึนามิ และอากาศที่หนาวเย็นจากกลุ่มประเทศยุโรปที่ส่งผลทำให้สนามบินในยุโรปบางแห่งต้องหยุดระงับการบิน

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในด้านการขยายตัวและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจพบว่าในปี 2553 สัดส่วนของการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ คิดเป็นประมาณร้อยละ 6.1 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ด้านเสถียรภาพ พบว่าการจ้างงานของภาคโรงแรมและภัตตาคารในปี 2535 มีจำนวน 2.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 7.7 ของการจ้างงานรวมและเป็นแหล่งงานสำคัญในการรองรับการว่างงานนอกฤดูเก็บเกี่ยวของภาคการเกษตร

จากการศึกษาโครงสร้างสัดส่วนของนักท่องเที่ยวในปี 2553 พบว่า นักท่องเที่ยวจากกลุ่มอาเซียนมีสัดส่วนเป็นอันดับ 1 ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปลงมาเป็นอันดับ 2 (จากปี 2553 ที่เป็นอันดับ 1) ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจของยุโรป ขณะที่กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอันดับ 3 กลุ่มเอเชียใต้อยู่ในอันดับ 4 จากปีก่อนหน้าที่อยู่ลำดับ 5 และอเมริกาลงมาเป็น อันดับ 5 ส่วนหนึ่งจากปัญหาทางเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่

สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2554 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 โดยมีเป้าหมายรายได้จำนวน 6.20 แสนล้านบาท ซึ่ง สศค.วิเคราะห์ว่าหากสถานการณ์เป็นปกติ โดยไม่เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรง การท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 6.3 ต่อปี ด้วยจำนวน 16.8 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 6.55 แสนล้านบาท

1. สถานการณ์การท่องเที่ยวในปี 2553

ภาวการณ์ท่องเที่ยวไทยในปี 2553 สามารถขยายตัวได้ดีโดยขยายตัวที่ร้อยละ 12.0 ต่อปีแม้ว่าจะไดรับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศเกิดขึ้นตลอดทั้งปี เริ่มต้นจากการชุมนุมทางการเมืองในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และบางพื้นที่ในต่างจังหวัด ช่วงเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม 2553 การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินในช่วงเดือนกันยายน 2553 การเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรง ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ช่วงเดือน ตุลาคมและพฤษภาคม 2553 ต่อเนื่องด้วยกระแสข่าวธรณีพิบัติสึนามิ และอากาศที่หนาวเย็นจากกลุ่มประเทศยุโรปที่ส่งผลทำให้สนามบินในยุโรปบางแห่งต้องหยุดระงับการบิน

ช่วงเริ่มต้นปี 2553 การท่องเที่ยวสดใสแต่ถูกบั่นทอนด้วยวิกฤตการเมืองในประเทศ

กระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2552 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทั้งสิ้น 4.7 ล้านคน นับเป็นไตรมาสที่มีการเดินทางสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยขยายตัวร้อยละ 28.2 และหากพิจารณาอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลออก (% q-o-q seasonally adjusted) แล้วมีการขยายตัวร้อยละ 4.1 สะท้อนถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องจากปี 2552 อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวไทยถูกบั่นทอนอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน ถึง เดือนพฤษภาคม 2553 ที่เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเริ่มรุนแรงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ในเดือนพฤษภาคมหดตัวทันที ร้อยละ -10.5 อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังสามารถฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ในเดือนมิถุนายนที่ขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวไทย

ช่วงกลางปี 2553 การท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และปัญหาทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย

สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก นับจากปี 2551 และปัญหาทางการเมืองในประเทศเริ่มคลี่คลายช่วงกลางปี 2553 โดยในเดือนสิงหาคม 2553 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 1.25 ล้านคน สูงกว่าในเดือนสิงหาคม 2551 ที่มีจำนวน 1.21 ล้าคน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่ เข้าสู่ระดับปกติและสูงกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเกิดในเดือนกันยายน 2551

ช่วงปลายปี 2553 การท่องเที่ยวไทยโดนซ้ำเติมด้วยปัจจัยค่าเงินบาท เกิดอุทกภัย กระแสข่าวการเกิดสึนามิ และอากาศที่หนาวเย็นจากกลุ่มประเทศยุโรป

การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนกันยายน 2553 ที่ระดับร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับ ต้นปี ต่อเนื่องจนถึงจุดที่แข็งสุดในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ที่ร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับต้นปี ส่งผลให้ต้นทุนการเดินทางท่องเที่ยวมายังประเทศไทยของชาวต่างชาติสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจและจัดทำ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวของโครงการความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัย ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 พบว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพียงเล็กน้อย โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงใช้จ่ายเหมือนเดิม แต่สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว Inbound และโรงแรมและที่พัก

อุทกภัยน้ำท่วม กระแสข่าวธรณีพิบัติสึนามิและอากาศที่หนาวเย็นจากกลุ่มประเทศยุโรป การเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2553 โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ต่อเนื่องด้วยกระแสข่าวธรณีพิบัติสึนามิ และอากาศที่หนาวเย็นจากกลุ่มประเทศยุโรปที่ส่งผลทำให้สนามบินในยุโรปบางแห่งต้องหยุดระงับการบิน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาสที่ 4 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 77 ยังคงต่ำกว่าระดับปกติ (100) แต่ผลที่ออกมาจากตัวเลขจริงพบว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และหากพิจารณาอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลออก (% q-o-q seasonally adjusted) แล้วมีการขยายตัวร้อยละ 10.1 สะท้อนให้เห็นว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีบทบาทสนับสนุนในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553

แม้จะมีปัจจัยลบเข้ากระทบก็ตาม แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2553กลับขยายตัวได้ดี โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 15.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12.0 และคาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 6.27 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ ททท.ตั้งไว้สำหรับปี 2553 ที่ 14.5

ล้านคน และสูงกว่าเป้ารายได้ 5.30 แสนล้านบาท บ่งชี้ว่าการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังมีความมั่นใจในการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวไทย ทั้งนี้ หากพิจารณาคิดเป็นส่วนส่วนต่อผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (ณ ราคาปัจจุบัน) พบว่ารายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนร้อยละ 6.1 ของ GDP สูงขึ้นจากปี 2552 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 5.9 ต่อ GDP และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยในการจ้างงานโดย พบว่าการจ้างงานของภาคโรงแรมและภัตตาคารในปี 2535 มีจำนวน 2.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 7.7 ของการจ้างงานรวมและเป็นแหล่งงานสำคัญในการรองรับการว่างงานนอกฤดูเก็บเกี่ยวของภาคการเกษตรสะท้อนให้เห็นว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีบทบาทผ่านภาคการส่งออกบริการ (Export of Service) และมีบทบาทสำคัญใน การช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 12.7 ต่อปี (ณ ราคาปัจจุบัน) หรือร้อยละ 7.8 ต่อปี (ณ ราคาคงที่) ในปี 2553 ตารางที่ 1 บทบาทการท่องเที่ยวต่างชาติด้านด้านการขยายตัวและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

2. การวิเคราะห์เชิงปริมาณด้านโครงสร้างจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โครงสร้างการท่องเที่ยวต่างชาติของไทย แยกตามภูมิภาคสำคัญได้ดังนี้ (1) ภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย กลุ่มอาเซียน กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มเอเชียใต้ (2) ภูมิภาคยุโรป (3) อเมริกา (4) ตะวันออกกลาง (5) โอเชียเนีย และ (6) แอฟริกา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมาจากกลุ่มประเทศเอเชียและยุโรปเป็นหลัก

ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบโครงสร้างสัดส่วนของนักท่องเที่ยวในปี 2553 พบว่า นักท่องเที่ยวจาก กลุ่มอาเซียนมีสัดส่วน เป็นอันดับ 1 ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปตกลงมาเป็นอันดับ 2 (จากปี 2553 ที่เป็นอันดับ 1) ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง ขณะที่ กลุ่มเอเชีย ตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอันดับ 3 กลุ่มเอเชียใต้ อันดับ 4 จากปีก่อนหน้าที่อยู่ 5 และ อเมริกา ลงมาอยู่อันดับ 5 ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ

หากพิจารณา โครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างประเทศแยกตามรายประเทศสามารถจัดกลุ่มวิเคราะห์สถานการณ์การท่องเที่ยว ได้ดังนี้

1.กลุ่มที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น (Increasing Market Share) มีการขยายตัวได้ดี (High Growth) ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ จาก ประเทศจีนและเกาหลี กลุ่มเอเชียใต้ จากประเทศอินเดีย กลุ่มอาเซียน จากประเทศ มาเลเซีย และตะวันออกลาง จากประเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (U.A.E)

2.กลุ่มที่มีส่วนแบ่งตลาดลดลง (Declining Market Share) และกลุ่มที่มีการขยายตัวต่ำ (Low Growth) คือ อเมริกา โอเชียเนีย และ ยุโรป โดยหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า ทุกประเทศที่อยู่ในยุโรปมีส่วนแบ่งตลาดลดลงและมีการขยายตัวต่ำแต่กระแสการเดินทางของประเทศรัสเซียทำให้ส่วนแบ่งการตลาดในภาพรวมลดลงไม่มาก และช่วยทำให้ในภาพรวมมีการขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 โดยหากไม่รวม รัสเซียแล้วจะทำให้ยุโรปมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 ต่อปี

3. แนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2554

สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะเริ่มกลับเข้าสภาวะปกติ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี โดยมีเป้าหมายรายได้จำนวน 6.20 แสนล้านบาท ซึ่ง สศค.วิเคราะห์ว่าหากสถานการณ์เป็นปกติ โดยไม่เกิดภาวะความไม่สงบในประเทศ หรือภัยธรรมชาติที่รุนแรง การท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 6.3 ต่อปี2 ด้วยจำนวน 16.8 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 6.55 แสนล้านบาท สูงกว่าการคาดการณ์ขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ที่ได้คาดการณ์สถานการณ์และทิศทางการท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2554 ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4-5 จากปี 2553 โดยทวีปเอเชียจะยังคงมีการขยายตัวมากที่สุด ซึ่งใกล้เคียงกับตะวันออกกลาง ส่วนทวีปแอฟริกาน่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากการจัดฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ ขณะที่ทวีปอเมริกาน่าจะปรับตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งเนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นจากนโยบายการเงินผ่อนคลายของรัฐบาลที่มีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยุโรปจะปรับตัวดีในระดับที่ต่ำกว่าปี 2553 เนื่องจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

4. แนวนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในอนาคต

การท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งนับเป็นรายได้หลักแหล่งหนึ่งของไทย ดังนั้นแนวนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในอนาคต จึงควรมีการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง แต่มีความอ่อนไหวจากสถานการณ์ต่างๆ มาก ในขณะเดียวกัน ควรสำรวจความต้องการการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ ที่เป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มมีการเดินทางแบบ Long- stay และเพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวในระยะยาว ควรมีการส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยว นอกจากนั้นยังควรส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริการนักท่องเที่ยวซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดแข็งของการท่องเที่ยวไทย พร้อมกันนั้นควรสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อรักษาสถานที่ท่องเที่ยวไทยให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ