รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์ที่ 24-28 มกราคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 1, 2011 14:43 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. มูลค่าการส่งออกประจำเดือนธันวาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13

2. S&P ลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลงมาเป็น AA- จากเดิม AA

3. กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยร่างนโยบายงบประมาณประจำปี 2554

-----------------------------------

รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. มูลค่าการส่งออกประจำเดือนธันวาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่ายอดการส่งออกประจำปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและมีมูลค่า 67.4059 ล้านล้านเยน ซึ่งการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยมีการส่งออกไปยังจีนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2522 ทำให้มียอดการเกินดุลการค้าในปี 2553 อยู่ที่ 6.7702 ล้านล้านเยน

ส่วนการส่งออกประจำเดือนธันวาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า และมีมูลค่า 6.1128 ล้านล้านเยน โดยยอดการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.1 และ 16.5 ตามลำดับ เป็นผลมาจากการส่งออกยานยนต์เพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนเดียวกันปีก่อนหน้าติดต่อกันเป็นเวลา 13 เดือน ส่วนยอดการนำเข้าก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 อยู่ที่ 5.3851 ล้านล้านเยน

การส่งออกมากกว่าการนำเข้า ทำให้มียอดเกินดุลการค้าเดือนธันวาคม 2553 เป็นมูลค่า 727.7 พันล้านเยน

ดุลการค้าประจำเดือนธันวาคม 2553

หน่วย: พันล้านเยน

                ยอดการส่งออก (ร้อยละ)          ยอดการนำเข้า (ร้อยละ)              ดุลการค้า (ร้อยละ)
สหรัฐฯ                969.9  (16.5)              472.1 (-1.4)                   497.8 (40.6)
สหภาพยุโรป            703.8   (9.7)              483.7 (-0.3)                   220.2 (40.7)
เอเชีย (รวมจีน)       3,477.9 (14.8)            2,420.0 (15.4)                 1,057.9 (13.4)
สาธารณรัฐประชาชนจีน   1,285.8 (20.1)            1,193.7 (14.7)                   92.2 (215.3)
  รวม               6,112.8 (13.0)            5,385.1 (10.6)                   727.7 (34.1)
ที่มา กระทรวงการคลังญี่ปุ่น


2. S&P ลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลงมาเป็น AA
          S&P ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลงจากที่ระดับ AA ลงมาอยู่ที่ระดับ AA เป็นการลดอันดับครั้งแรกในรอบ 8 ปี 9 เดือน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีแผนที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากยังไม่มีแผนที่จะออกมาตรการปรับปรุงด้านการคลัง คาดว่าญี่ปุ่นจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณได้ภายในไม่ช้า
          ทั้งนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นคาดการณว์ ยอดหนี้สาธารณะคงค้างจะเพิ่มสูงขึ้นถึงจำนวน 997.7098 ล้านล้านเยน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งจะเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์

3. กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยร่างนโยบายงบประมาณประจำปี 2554
          เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เปิดเผยร่างนโยบายงบประมาณประจำปี 2554 ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 5.2 ล้านล้านเยนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมียอดรวมเท่ากับ 220.2755 ล้านล้านเยน โดยตัวเลขนี้เป็นยอดรวมของงบประมาณทั่วไปและงบประมาณพิเศษประจำปี 2554 ซึ่งในส่วนของงบประมาณทั่วไปนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้ามาก แต่ในส่วนของงบประมาณพิเศษนั้นได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในส่วนของค่าใช้จ่ายทางด้านประกันสังคม ซึ่งงบประมาณประจำปี 2554 นี้ถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่กระทรวงการคลังเริ่มเปิดเผยร่างนโยบายนับแต่ปี 2551
          รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการตั้งเพดานสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายในส่วนของงบประมาณทั่วไปไว้ที่ 71 ล้านล้านเยน แต่ในส่วนของงบประมาณพิเศษนั้นไม่ได้มีการตั้งเพดานไว้แต่อย่างใดจนทำให้ยอดรวมงบประมาณนั้นเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเมื่อดูจากรายละเอียดแล้วพบว่างบประมาณด้านการประกันสังคมนั้นมีจำนวนประมาณเท่ากับ 75 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านเยนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายเช่นเงินสนับสนุนด้านการแพทย์ การดูแลผู้สูงอายุ และเงินบำนาญนั้นเพิ่มขึ้นจนมียอดรวมเท่ากับ 63 ล้านล้านเยน และค่าใช้จ่ายในการคืนเงินต้นและชำระดอกเบี้ยสำหรับพันธบัตรรัฐบาลประจำปี 2554 นั้นมีจำนวนเท่ากับ 82 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 8 ล้านล้านเยนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเนื่องจากมีจำนวนพันธบัตรครบอายุในปีนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งยอดรวมค่าใช้จ่ายทางด้านประกันสังคมและพันธบัตรรัฐบาลนั้นมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 70 ของยอดรวมทั้งหมดทำให้การลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นในส่วนนี้ทำได้ยาก รัฐบาลจึงหันมาลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโครงการสาธารณะเช่นการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเป็นจำนวนเท่ากับ 5.9 ล้านล้านเยน แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวมีจำนวนเท่ากับร้อยละ 2.7 ของยอดรวมดังนั้นการลดงบประมาณในส่วนดังกล่าวนี้จึงไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลลดการขาดดุลงบประมาณมากขึ้นมากเท่าที่ควร


          สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

          ที่มา:  Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
          Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ