รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 มีนาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 12:02 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 มีนาคม 2554

Summary:

1. ครม. ไฟเขียวขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 5

2. สศอ. เผยตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

3. อเมริกามีสัญญาณด้านการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น

Highlight:
1. ครม.ไฟเขียวขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 5
  • รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 5 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 54 นี้ โดยการปรับขึ้นเงินเดือนดังกล่าวแล้วจะต้องมีเพดานเงินเดือนไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ เลขาธิการครม.เปิดเผยว่าการปรับขึ้นเงินเดือนดังกล่าว เป็นข้อเสนอที่ผ่านความเห็นชอบมาจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(กนร.)แล้ว ซึ่งจะสอดคล้องกับการปรับเงินเดือนของข้าราชการที่จะมีผลในเดือนเม.ย.นี้ เช่นกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 5 สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาท จะช่วยให้รายได้ที่แท้จริงของพนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถขยายตัวรองรับอัตราเงินเฟ้อได้ โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคาดว่าทั้งปีจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3.1 - 4.1 โดยรายได้ที่ปรับสูงขึ้นนี้ จะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 51.8 ของจีดีพี (สัดส่วนปี 53)
2. สศอ.เผยตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 54 อยู่ที่ระดับ 176.94 จากระดับ 183.2 หดตัวร้อยละ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือน ม.ค. 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมที่มีผลต่อการปรับลดลงเป็นผลจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นสำคัญ เพราะเป็นช่วงเดือนที่โรงกลั่นทำการปิดเพื่อซ่อมแซมเครื่องจักรประจำปี ทั่งโรงกลั่นเอสโซ่ ปตท.และบางจาก ประกอบกับความไม่สงบทางการเมืองในตะวันออกกลางที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญสูงขึ้น ทำให้การผลิตและการจำหน่ายปิโตรเลียมลดลงร้อยละ 22.3 และ ร้อยละ 11.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ดีมีบางอุตสาหกรรม อาทิเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคสินค้าคงทนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ภายนอกขยายตัวได้ดี สะท้อนจากมูลค่าส่งออกยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เดือนก.พ. 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 20.1 และ 22.9 ตามลำดับ
3. อเมริกามีสัญญาณด้านการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น
  • สำนักข่าว Bloomsberg เผยว่า ชาวอเมริกันเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายจากภาวะรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ช่วยลดข้อกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มต้นทุนด้านอาหารและพลังงานจะทำให้อุปสงค์ของประเทศที่มีสัดส่วนทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 70 ต้องหยุดชะงักลง ทั้งนี้ การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 0.7 มากกว่าที่คาดการณ์เดิมไว้ที่ร้อยละ 0.5 ประกอบกับตัวเลขสัญญาซื้อขายบ้านเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ทางการเพิ่มตำแหน่งงานลงไปเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยในเดือน ก.พ.54 อัตราการว่างงานในสหรัฐต่ำสุดนับจาก เม.ย.53 เป็นต้นมา ชึ่งช่วยบรรเทาปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากดัชนี PMI ในสหรัฐปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 60.8 สูงสุดตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคขยายตัวร้อยละ 4.8 มีการแสดงว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจในหน้าที่การงานของตัวเองและมีความมั่นใจในรายได้ของตัวเองมากขึ้น และยังสะท้อนว่าประชาชนสหรัฐปัจจุบันเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของไทยไปสหรัฐ (ซึ่งมีสัดส่วนเป็นอันดับ 3 หรือร้อยละ 10.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย) ในเดือน ก.พ.54 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 23.5 ต่อปี จากร้อยละ 17.3 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในระยะสั้นส่งสัญญาณ “ฟื้นตัว” แล้ว อย่างไรก็ดี เฟดยังคงต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป และประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะมีในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2011

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ