รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 เมษายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 22, 2011 12:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 เมษายน 2554

Summary:

1. ธนาคารกรุงไทยประกาศจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

2. ดัชนีความเชื่อมั่นด้านธุรกิจของเยอรมันเดือน เม.ย. 54 อยู่ที่ระดับ 110.4

3. ตัวเลข initial jobless claim ของสหรัฐ ณ สิ้นอาทิตย์ที่ 16 เม.ย. 54 ลดลง 13,000 คน

Highlight:
1. ธนาคารกรุงไทยประกาศจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 54 เป็นต้นไป ธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทระหว่าง 0.10% - 0.25% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทร้อยละ 0.125 ต่อปี โดยเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน ปรับขึ้นร้อยละ 0.125 - 0.20 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.50 - 1.70 ต่อปี ประเภท 6 เดือน ปรับขึ้นร้อยละ 0.15 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี ประเภท 12 เดือน ปรับขึ้นร้อยละ 0.20 - 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.10 - 2.25 ต่อปี ประเภท 24 เดือน ปรับขึ้นร้อยละ 0.1 - 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.85 — 3.00 ต่อปี และประเภท 36 เดือน ปรับขึ้นร้อยละ 0.1 ต่อปี เป็นร้อยละ 3.10 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่าหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 21 เม.ย. 54 จากเดิมที่ร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.75 เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อนั้น เป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ซึ่งสะท้อนว่า ในระยะต่อไป อัตราดอกเบี้ยจะเริ่มทยอยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ฝาก ขณะที่ผู้ประกอบการอาจต้องเริ่มเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นนั้นจะส่งผลให้ต้นทุนในการกู้ยืมเพิ่มขึ้น
2. ดัชนีความเชื่อมั่นด้านธุรกิจของเยอรมันเดือน เม.ย. 54 อยู่ที่ระดับ 110.4
  • ดัชนีความเชื่อมั่นด้านธุรกิจของเยอรมันเดือน เม.ย. 54 อยู่ที่ระดับ 110.4 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากสาเหตุจากความไม่สงบในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ทั้งนี้ต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมันคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 54 จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากที่เคยขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 ในปี 53
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีดังกล่าวที่ลดลง เป็นสัญญาณถึงความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเยอมันโดยรวม โดยนอกเหนือจากความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเดือน เม.ย. 54 มาอยู่ที่ระดับ 1.25 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 51 แล้วนั้น ปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปที่ยังไม่คลี่คลายจะยังคงเป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ PIIGS ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมันที่พึ่งพาการส่งออกจากประเทศในกลุ่มดังกล่าวเป็นสำคัญ
3. ตัวเลข initial jobless claim ของสหรัฐ ณ สิ้นอาทิตย์ที่ 16 เม.ย. 54 ลดลง 13,000 คน
  • ตัวเลข initial jobless claim ของสหรัฐ ณ สิ้นอาทิตย์ที่ 16 เม.ย. 54 ลดลง 13,000 คน มาอยู่ที่ระดับ 403,000 คน ซึ่งเป็นการลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปลายปี 53 นั้น ตัวเลขดังกล่าวมีการเปลี่ยแปลงเพียงเล็กน้อย เป็นการสะท้อนว่าสภาวะตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.0-0.25 อีกระยะหนึ่งเพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเปราะบาง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 54 เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ในระยะต่อไปเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเผชิญกับความเสี่ยง โดยเฉพาะจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลกที่มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือน มี.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นับเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 53 ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของ GDP และการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ