บทสรุปผู้บริหาร
- สำนักงานสถิติประกาศข้อมูลสุดท้ายของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 1.3 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปี 2552 ที่เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ -4.9
- สาเหตุหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวดีขึ้นมาจากปริมาณการส่งออกของสินค้าและบริการที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนลง
- เศรษฐกิจ U.K.ในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.7 โดยยังต้องพึ่งพาแรงสนับสนุนจากการส่งออกเป็นหลัก (Export-led Growth)
- ปัจจัยเสี่ยงสำคัญทางเศรษฐกิจมาจากการใช้จ่ายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคเอกชนที่ยังคงอ่อนแอ จากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและการว่างงานที่ยังอยู่สูง ส่งผลทำให้กำลังซื้อการบริโภคลดลง ประกอบกับรายจ่ายรัฐบาลที่จะลดลงมาก ตามนโยบายการตัดรายจ่ายภาครัฐ
- เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศอ่อนแอ โดยอัตราเงินเฟ้อจาก Consumer Price Index ในไตรมาสแรกของปี 2554 สูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจากราคาสินค้าขายปลีก Retail Price Index ในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ต่อปี
- อัตราการว่างงานรอบ 3 เดือนสิ้นสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ยังทรงตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 7.8 ของกำลังแรงงาน
- แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยดุลการค้าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554 ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปประเทศนอกสหภาพยุโรปที่ขยายตัวดีมาก
- ธนาคารกลางอังกฤษยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.5 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของธนาคารกลางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางในระยะยาว
- รัฐบาลสามารถลดการขาดดุลงบประมาณปี 2553 (สิ้นสุดต.ค.2554) ได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น 9.6% ของ GDP ลดลงจากปีงบประมาณก่อนที่ขาดดุล 11.1% แต่หนี้สาธารณะสุทธิยังคงปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 59.9 ของ GDP เอกสารแนบ สรุปนโยบายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 (Budget 2011) ของ U.K
เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในปี 2553-2554 ฟื้นตัวอย่างเปราะบางโดยต้องพึ่งพาแรงสนับสนุนจากการส่งออกเป็นหลัก (Export-led Growth)
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักรได้ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร (U.K) (ข้อมูลรอบสุดท้าย) ประจำไตรมาส 4 ของปี 2553 ซึ่งหดตัวจากไตรมาสก่อน (Quarter on Quarter: QoQ) ร้อยละ -0.5 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year on Year: YoY) เศรษฐกิจ U.K. ในไตรมาส 4 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในไตรมาส 4 หดตัว มาจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติในช่วงปลายปี 2553 ส่งผลให้การผลิตภาคบริการและภาคก่อสร้าง ซึ่งมีสัดส่วนสูงรวมกันถึงร้อยละ 82 ของการผลิตรวม (Supply Side) หดตัวในไตรมาส 4 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม ซึ่งมีสัดส่วนสูงในการใช้จ่ายรวม (Demand Side) หดตัวเช่นกัน เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามเงินเฟ้อ การว่างงานที่อยู่ในระดับสูง และการตัดงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ
เมื่อพิจารณาในภาพรวมเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรโดยเฉลี่ยในปี 2553 ยังขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 1.3 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปี 2552 ที่เศรษฐกิจหดตัวสูงถึงร้อยละ -4.9 เนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยสาเหตุหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวได้ดีขึ้น มาจากปริมาณการส่งออกของสินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 5.8 ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า นอกจากนั้น การลงทุนรวมได้เริ่ม
กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 3 ต่อปี อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ช้าโดยขยายตัวเพียงแค่ร้อยละ 0.8 ต่อปี เนื่องจากการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานเฉลี่ยในปี 2553 ยังคงอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 7.9 ของกำลังแรงงาน ประกอบกับค่าครองชีพได้เร่งตัวสูงขึ้นตามอัตราการเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ในปี 2553
สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2554 กระทรวงการคลัง โดย Office of Budget Responsibility ได้คาดการณ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 ว่า เศรษฐกิจ U.K. ในปี 2554 น่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.7 (ปรับลดจากที่คาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.1) โดยคาดว่าจะได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากปริมาณการส่งออกที่น่าจะเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.9 ต่อปี โดยได้รับอานิสงค์จากเศรษฐกิจคู่ค้ายังขยายตัวได้ดีและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนลงในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจ U.K. มาจากด้านการใช้จ่ายในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงเปราะบาง ซึ่งคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเร่งตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ขณะที่นโยบายเร่งตัดลดงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐเพื่อลดหนี้สาธารณะที่คาดว่าจะอยู่สูงถึงร้อยละ 66.1 ของ GDP จะส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวชะลอลงในปี 2554 นี้
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นและการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง
อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(Consumer Price Index: CPI) ประจำเดือนมีนาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งแม้ว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนกุมภาพันธ์ที่อยูที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี แต่อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของไตรมาสแรกปี 2554 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี เร่งตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี
สาเหตุหลักที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรปรับตัวสูงขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 17.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 20 ตั้งแต่ต้นปี 2554 ที่ผ่านมา และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกจากปัญหาความไม่สงบในเขตแหล่งผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภคที่ไม่ได้นับรวมอาหารสดและพลังงาน (Core Consumer Price Index: Core CPI) ในเดือนมีนาคม 2554 ยังคงทรงตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี แม้ว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.4 ในเดือนกุมภาพันธ์
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีราคาสินค้าค้าปลีก (Retail Price Index) ซึ่งสะท้อนค่าครองชีพของผู้บริโภครายย่อยจะพบว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2554 ยังคงทรงตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 5.3 ต่อปี แม้ว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ Retail Price Index ในเดือนกุมภาพันธ์ที่สูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจาก Retail Price Index เฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ต่อปี สูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ของปี 2553 ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี
อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ในรอบ 3 เดือนสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2554 (ธันวาคม 2553 - กุมภาพันธ์ 2554) ทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 7.8 ของกำลังแรงงาน ปรับตัวลดลงจากอัตราการว่างงานในรอบ 3 เดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 7.9 ของกำลังแรงงาน โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 2.48 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 17,000 คน ทั้งนี้ อัตราการมีงานทำ (Employment Rate) ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 70.7 ของกำลังแรงงาน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 70.5 ของกำลังแรงงาน
ดุลการค้าของในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2554 ปรับตัวดีขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นของการส่งออกเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ U.K.
ดุลการค้าของสินค้าและบริการในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2554 ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยการขาดดุลการค้าลดลงมาอยู่ที่ -2.9 และ -2.4 พันล้านปอนด์ ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขาดดุลที่ลดลงมากจากธันวาคม 2553 ที่ขาดดุลถึง -5.5 พันล้านปอนด์ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ขาดดุลลดลงมาจากดุลการค้าของสินค้า (Trade on Goods) ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ขาดดุลลดลงมาอยู่ที่ -7.8 และ -6.8 พันล้านปอนด์ ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขาดดุลที่ลดลงจากเดือนธันวาคม 2553 ที่ขาดดุล -9.7 พันล้านปอนด์ ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าการส่งออกในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ได้เพิ่มขึ้นถึง 1.3 และ 0.3 พันล้านปอนด์ ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังประเทศนอกสหภาพยุโรปที่เพิ่มสูงตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบค่าเงินสกุลอื่นๆ นอกเขตยูโร ขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2554 ได้ลดลง 1.3 และ 0.7 พันล้านปอนด์ ตามลำดับ
ดังนั้น การส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลลดลง จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจอังกฤษฟื้นตัว ในช่วงการใช้จ่ายภาคเอกชนอ่อนแอและการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงตามนโยบายรัฐบาล
ธนาคารกลางอังกฤษยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำต่อไป เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2554 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของธนาคารกลางอังกฤษ มีมติให้คงนโยบายอัตราดอกเบี้ย Bank rate ไว้ตามเดิมในอัตราร้อยละ 0.50 พร้อมกับคงมาตรการรับซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน (Quantitative Easing: QE) จำนวน 200 พันล้านปอนด์ ไว้ตามเดิม
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรจะเร่งตัวสูงขึ้นมากกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ให้ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี อย่างต่อเนื่อง แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee) ส่วนใหญ่ (จำนวน 6 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 9 คน) ยังเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ร้อยละ 0.5 เพื่อช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการเสียงข้างน้อยจำนวน 3 คน (Mr.Andrew Sentence Mr.Martin Weale และ Mr.Spencer Dale) ลงมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรที่ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น ความท้าทายที่สำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินของสหราชอาณาจักรในระยะต่อไป คือ การรักษาสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง กับ แรงกดดันเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ ตลาดการเงินคาดว่า ธนาคารกลางของอังกฤษจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นี้ ตามแรงกดดันเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเร่งตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอังกฤษขณะที่ธนาคารกลางยุโรปขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร
การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ ในช่วงที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้ส่งผลให้นักลงทุนถอนการลงทุนจากอังกฤษไปลงทุนในยุโรปมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร โดยค่าเงินปอนด์ได้อ่อนค่าลงจากในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ระดับ 1.18 ยูโร/ปอนด์ มาอยู่ที่ 1.15 ยูโร/ปอนด์ ในช่วงต้นเดือนเมษายน ขณะที่ค่าเงินปอนด์เมื่อเทียบกับค่าเงินเยนได้อ่อนค่าลงเช่นกัน จากระดับ 133 เยน/ปอนด์ ในช่วงต้นเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ 131.6 เยน/ปอนด์ ในช่วงต้นเดือนเมษายน
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ค่าเงินปอนด์เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับแข็งค่าขึ้น ดั่งจะเห็นได้จากค่าเงินปอนด์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 1.60 $/ปอนด์ ได้แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 1.61 $/ปอนด์ ในช่วงต้นเดือนเมษายน เนื่องจากสหรัฐเผชิญกับปัญหาทางการเมืองที่รัฐสภาสหรัฐยังไม่ยอมผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ เนื่องจากกังวลถึงปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ตลาดการเงินขาดความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และเป็นสาเหตุให้นักลงทุนแห่ถอนเงินจากสหรัฐ และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ (รวมทั้งเงินปอนด์) ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2554
รัฐบาลสามารถลดการขาดดุลงบประมาณ 53 ได้ตามเป้าเหลือ 9.6% ของ GDP แต่หนี้สาธาณะต่อ GDP ยังคงอยู่สูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 59.9%
ยอดการขาดดุลงบประมาณสุทธิ ณ ในเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2010/11 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณสุทธิ 18.6 พันล้านปอนด์ ส่งผลให้ยอดการขาดดุลงบประมาณปี 2010/2011 สะสมตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ (Cumulative public sector net borrowing) อยู่ที่ 141.1 พันล้านปอนด์ หรือ ประมาณร้อยละ 9.6 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่ายอดกู้เงินสะสมในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนที่อยู่ที่ 156.5 พันล้านปอนด์ หรือ ร้อยละ 11.1 ของ GDP การที่รัฐบาลสามารถลดการขาดดุลงบประมาณได้ตามเป้าหมายที่กำหนดนโยบายให้การขาดดุลงบประมาณในปี 2010/11 อยู่ที่ไม่เกิน 149 พันล้านปอนด์ (หรือร้อยละ 10.1 ของ GDP) มาจากนโยบายการปรับขึ้นภาษี โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 17.5 เป็นร้อยละ 20 ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2554 เป็นต้นมา ได้ส่งผลให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนั้น รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการปรับลดรายจ่ายรัฐบาลในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการปรับลดรายจ่ายในด้านสวัสดิการสังคม
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณลดลง แต่ยอดหนี้สาธารณะสุทธิ (ที่ไม่รวมมาตรการช่วยเหลือภาคการเงิน) ณ สิ้นเดือนมีนาคม (สิ้นปีงบประมาณ) ยังคงเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 903.4 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 59.9 ของ GDP ซึ่งสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 760.3 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 52.8 ของ GDP
สรุปนโยบายเศรษฐกิจสำคัญในรอบเดือน
1. ยืนยันกรอบเป้าหมายวินัยทางการคลังเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Sustainability) โดยตังเป้าหมายที่จะลดการขาดดุลรายจ่ายประจำ (Structural Current Deficit) ซึ่งไม่นับรวมรายจ่ายเพื่อการลงทุน ให้กลับมาสมดุลให้ได้ภายในปี 2558 โดยมีเป้าหมายดังนี้
% of GDP 2554 2555 2556 2557 2558 Overall Deficit -7.9% -6.2% -4.1% -2.5% -1.5% Current Deficit -5.8% -4.5% -2.7% -1.2% -0.2%2. ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังข้างต้น ได้ออกนโยบายเพื่อลดค่าครองชีพเพื่อบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม แต่ชดเชยด้วยการปรับขึ้นภาษีและค่าธรรมเนียมบางประเภท เช่น
- เพิ่มเพดานค่าลดหย่อนภาษีจาก 1,000 ปอนด์ เป็น 7,475 ปอนด์
- ลดภาษีน้ำมัน 1 เพนซ์ ต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 และยกเลิกเกณฑ์การเพิ่มภาษีน้ำมัน (Fuel-duty Escalator) เดิมที่รัฐบาลที่แล้วประกาศในปี 2552 แต่ทดแทนด้วยกองทุนน้ำมัน (Fair-fuel Stabiliser) ที่กำนหดให้เพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเท่ากับอัตราการเพิ่มของ Retail Price Index (RPI) ในกรณีที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง แต่หการาคาน้ำมันลดลงต่ำกว่า 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล์ อัตราภาษีน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเท่ากับ RPI+1% ทั้งนี้ มาตรการลดภาษีน้ำมันดังกล่าว ถูกชดเชยด้วยการเก็บค่าธรรมเนียม เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 32% กับบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันในทะเลเหนือ
- ตั้งกองทุน 250 ล้านปอนด์ เพื่อปล่อยกู้ซื้อบ้านให้แก่ผู้ซื้อบ้านหลังแรก
- เลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียม Air Passenger Duty ไปจนถึงปี 2555
- ลดอัตราภาษีมรดกเหลือ 36% สำหรับกองมรดกที่มอบรายได้ร้อยละ 10 ให้การกุศล
3. ภายใต้กรอบวินัยการคลังข้างต้น ได้ออกนโยบายในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth Strategy) เช่น
- ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีงบประมาณ 2554 (เมษายน2554- มีนาคม 2555) จากร้อยละ 28 เป็นร้อยละ 26 และประกาศปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกปีละร้อยละ 1 จนเหลือร้อยละ 23 ในปีงบประมาณ 2557 และชดเชยด้วยการเพิ่มค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากธนาคาร (Bank levy)
- ประกาศนโยบาย Patent Box ที่เตรียมจะลดภาษีนิติบุคคลให้พิเศษอีกร้อยละ 10 สำหรับกำไรของธุรกรรมที่ได้รับ Patent เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา โดยจะเริ่มมีผลในเดือนเมษายน 2556
- ให้ Tax Credit 200% แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวกับ Research and development
- ปฏิรูปกระบวนการชำระภาษีมีความง่ายสะดวกยิ่งขึ้น (Simplify Tax System)
- จัดหางบประมาณ 200 ล้านปอนด์เพื่อสนับสนุนโครงการ Rail
- รัฐบาลลงทุน 3 พันล้านปอนด์ ในเงินกองทุนเพื่อจัดตั้ง Green Investment Bank เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสะอาด Clean Energy Development
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th