รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 25, 2011 10:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2554

Summary:

1. ธปท.ยอมรับเงินบาทช่วงนี้ผันผวนแต่เป็นไปตามตลาดโลก

2. กำไรธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ขยายตัวเกินคาดที่ร้อยละ 30.3 จากปีก่อนหน้า

3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นของจีน (HSBC PMI) เดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ระดับ

Highlight:
1. ธปท.ยอมรับเงินบาทช่วงนี้ผันผวนแต่เป็นไปตามตลาดโลก
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง สถานการณ์เงินบาทในช่วงนี้ ว่ามีความผันผวนมากขึ้น แต่เป็นไปตามทิศทางตลาดทั่วโลก ซึ่งธปท.ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยสาเหตุที่เงินบาทผันผวน เพราะตลาดการเงินต่างประเทศมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากมีปัญหาทั้งในสหรัฐฯและยุโรป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ช่วงเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค อาทิ เงินเยนญี่ปุ่น เงินวอนเกาหลีใต้ และเงินริงกิตมาเลเซีย แต่หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 1 ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่แข็งค่าด้วยอัตราน้อยกว่าการแข็งค่าของค่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะเงินวอนและดอลลาร์สิงคโปร์ที่แข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 6 และร้อยละ 5 ตามลำดับ สาเหตุของการแข็งค่าของค่าเงินบาท น่าจะเกิดจากการที่มีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมาก ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซีกโลกตะวันตกที่ยังคงไม่ชัดเจน โดยเฉพาะสหรัฐฯที่ยังคงประสบปัญหาอัตราว่างงานในระดับสูงถึงร้อยละ 9.2 ของกำลังแรงงานรวม (ข้อมูลเดือนมิ.ย. 54) อีกทั้งยุโรปยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะที่นำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของหลายประเทศ จึงทำให้นักลงทุนย้ายพอร์ตการลงทุนมายังตลาดภูมิภาคมากขึ้น ประกอบกับการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 54 จะอยู่ที่ 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ ณ มิ.ย. 54)
2. กำไรธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ขยายตัวเกินคาดที่ร้อยละ 30.3 จากปีก่อนหน้า
  • ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 54 มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 33,822 ล้านบาท รือขยายตัวสูงกว่าคาดการณ์ที่ร้อยละ 30.3 จากปีก่อนหน้า โดยธนาคารกรุงไทย (KTB) มีอัตราการขยายตัวของกำไรสูงสุดที่ร้อยละ 55 ขณะที่ธนาคารเกียรตินาคิน (KK) เป็นธนาคารเดียวที่กำไรหดตัวประมาณร้อยละ 8 ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีกำไรดีขึ้นเกินคาด เป็นผลมาจากสินเชื่อที่โตต่อเนื่องและส่วนต่างดอกเบี้ยรับ (NIM) ที่สูงขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศ ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 51-52 ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเร่งขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยในเดือน พ.ค. 54 ยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขยายตัวเร่งขึ้นจาก ณ สิ้นปี 53 ที่อยู่ที่ร้อยละ 9.9 จากปีก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นของทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 จะเป็นปัจจัยส่งเสริมการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงครึ่งหลังของปี 54
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นของจีน (HSBC PMI) เดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 48.9
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นของจีน (HSBC PMI) เดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 52 ที่ระดับ 48.9 และลดลงต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกตั้งแต่ต้นปี 54 สะท้อนการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเป็นผลกระทบจากการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวของทางการจีนในช่วงที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญจาก (1) การหดตัวต่อเนื่องของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ จากการขาดแคลนอุปทาน หลังการปิดตัวชั่วคราวของบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิ และ (2) ดัชนีคำสั่งซื้อภาคการส่งออกอยู่ในระดัต่ำกว่า 50 (สะท้อนการหดตัว) นอกจากนี้ ต้นทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ต.ค.53 เพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมรวมไปถึงเศรษฐกิจจีนโดยรวม อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง ผนวกกับการผลิตในหมวดยานยนต์ที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวตามปกติ หลังการเปิดทำการของบริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ