รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 กันยายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 26, 2011 11:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 กันยายน 2554

Summary:

1. แบงก์ชาติจ่อลดประมาณการเศรษฐกิจเดือน ต.ค.

2. จ่อขึ้นเงินเดือนข้าราการทั้งระบบ6%

3. รมว.คลังญี่ปุ่นเผยเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง-คุมวิกฤตนิวเคลียร์อยู่หมัด

Highlight:
1. แบงก์ชาติจ่อลดประมาณการเศรษฐกิจเดือน ต.ค.
  • ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท. เผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับการดูแลเสถียรภาพราคา และ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจในช่วงสิ้นเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ ธปท. จะปรับลดการประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 ลง เนื่องจากปัจจัยลบที่มีมากขึ้น และเห็นด้วยกับรัฐบาลว่าจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาได้ปรับสู่ระดับปกติพอสมควรแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 54 และเดือนก.ค. 54 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณขยายตัวในอัตราชะลอลง และการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของแนวโน้มการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยสศค. คาดว่า ภาคการส่งออกทั้งสินค้าและบริการ และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 54 ขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.5 (ประมาณการ ณ เดือนมิ.ย. 54) โดย สศค. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้
2. จ่อขึ้นเงินเดือนข้าราการทั้งระบบ6%
  • รมช.คลัง กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้ากระทรวงคลังเตรียมเสนอแนวทางการทยอยปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบให้แก่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) โดยจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมให้กับผู้ที่มีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปด้วย และการปรับขั้นสูงแต่ไม่เกิน 6% ตามกฎหมาย เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกัน ขณะที่กลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีที่ได้รับการปรับขึ้น 15,000 บาท ไปแล้วตามนโยบาย อาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ 1-3% ซึ่งแนวทางนี้จะทำติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 ปี ตามการทยอยปรับฐานเงินเดือนปริญญาตรีบุคลากรภาครัฐทั้งระบบ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการทั้งระบบ จะช่วยเพิ่มอำนาจการซื้อของประชาชน ซึ่งจะสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากถึงร้อยละ 51.4 และในไตรมาสที่ 2 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่1 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ทั้งนี้ สศค.คาดว่าทั้งปี 54 การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 (ประมาณการ ณ เดือน มิ.ย. 54 ทั้งนี้จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ก.ย. 54
3. รมว.คลังญี่ปุ่นเผยเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง-คุมวิกฤตนิวเคลียร์อยู่หมัด
  • นายจุน อาซูมิ รัฐมนตรีกระทรวงคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับยืนยันว่า วิกฤตนิวเคลียร์อยู่ภายใต้การควบคุมตามแผนการดำเนินการของทางรัฐบาลแล้ว โดยญี่ปุ่นสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าได้เมื่อเดือนส.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ส่วนการฟื้นห่วงโซ่อุปทานก็เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ และล่าสุด ญี่ปุ่นก็อยู่ในระหว่างการปิดเตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดอิจิ ตามแผนการของทางรัฐบาล ส่วนประเด็นเรื่องการคลังนั้น นายอาซูมิกล่าวย้ำถึงจุดยืนของตนเองว่า รัฐบาลตั้งเป้าที่จะขึ้นภาษีการบริโภคเป็นร้อยละ 10 จากเดิมที่อยู่ร้อยละ 5 เพื่อระดมเงินคลังไว้ใช้ในระยะยาว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังเกิดภัยพิบัติสึนามินั้นจะส่งผลบวกอย่างชัดเจนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 และช่วงที่เหลือของปี 54 ผ่านภาคการส่งออก เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นได้มีการเร่งนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้นเพื่อไปฟื้นฟูการก่อสร้าง และบริโภคภายในประเทศ โดยญี่ปุ่นถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.5 ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมด ทั้งนี้ การส่งออกไทยไปญี่ปุ่นล่าสุดในเดือน ส.ค. มีมูลค่าอยู่ที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 25.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 8 เดือนแรกมีมูลค่าอยู่ที่ 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 30.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวได้ดีในสินค้าหลักแทบทุกหมวดอันได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และไก่แปรรูป เป็นต้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ