รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 17, 2011 11:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2554

Summary:

1. คาด กนง. คงดอกเบี้ยรับน้ำท่วม-เศรษฐกิจโลกหดตัว

2. ส่งออกปีหน้าสำลักน้ำท่วม พาณิชย์แย้มหั่นเป้า-โตไม่ถึง15%

3. จีนแซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของสหภาพยุโรป

Highlight:
1. คาด กนง. คงดอกเบี้ยรับน้ำท่วม-เศรษฐกิจโลกหดตัว
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไปในวันที่ 19 ต.ค. นี้ คณะกรรมการ กนง. จะปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 4.1% จากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ ที่ขณะนี้คาดว่าความเสียหายจนถึงประชุม กนง. ในสัปดาห์หน้าน่าจะสูงกว่า 100,000 ล้านบาท เพราะน้ำท่วมยังขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และวิกฤตหนี้ยุโรปจะส่งผลต่อเนื่อง และคาดว่าจะทำให้การส่งออกของประเทศชะลอตัวลง เพราะคู่ค้าเริ่มชะลอการสั่งซื้อ นอกจากนี้ คณะทำงานประเมินภาพเศรษฐกิจไทยยอมรับว่า ความเสี่ยงในด้านเงินเฟ้อในช่วงต่อไป แม้ยังอยู่ในระดับสูง แต่อ่อนแรงลงจากช่วงที่ผ่านมามากขึ้น และจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น การคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนน่าจะเหมาะสม ทั้งนี้ คาดว่าในการประชุม กนง. 19 ต.ค. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.5%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยในเบื้องต้น สศค. ได้ประเมินความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ อยู่ที่ประมาณ 6.9 หมื่นล้านบาท และจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโต ทางเศรษฐกิจไทยในปี 54 ประมาณร้อยละ 0.6 ซึ่งหากรวมผลกระทบที่เกิดจากปัญหาอุทกภัยและผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการเงินโลก ทั้งยุโรป และสหรัฐฯ อีกร้อยละ 0.2 คาดว่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยทั้งปี 54 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.7 โดยเป็นการปรับลดลงจากเดือน ก .ย .54 ที่ สศคเคยประมาณการว่า .เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ร้อยละ 4.0 (ช่วงคาดการณ์ ร้อยละ 3.8 - 4.3)
2. ส่งออกปีหน้าสำลักน้ำท่วม พาณิชย์แย้มหั่นเป้า-โตไม่ถึง15%
  • รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีน้ำท่วมในกว่า 20 จังหวัดของไทย ส่งผลทำให้วัตถุดิบสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมไม่สามารถป้อนเข้าโรงงานผลิตได้ รวมถึงเส้นทางการขนส่งถูกตัดขาด ระบบโลจิสติกส์ไม่สมบูรณ์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประสานงานกับภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคร.) ชี้แจงให้ความมั่นใจกับประเทศผู้ซื้อว่า ไทยสามารถควบคุมเรื่องการส่งมอบสินค้าได้ตามปกติ แต่ยอมรับว่าสถานการณ์น้ำท่วมกระทบต่อ ผู้ซื้อและผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในไทยบ้างแล้ว โดยน้ำท่วมไม่น่าจะกระทบตัวเลขการส่งออกปีนี้ที่ 20% แต่อาจจะต้องทบทวนตัวเลขเป้าหมายปีหน้า ไม่น่าจะโตได้ 15% เพราะความเสียหายเกิดขึ้นหลายจุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากภาวะภัยพิบัติอุทกภัยในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงระบบโลจิสติกส์ที่ประสบปัญหาไม่สามารถขนส่งสินค้าและวัตถุดิบได้ ด้วยเหตุนี้ ทำให้อุตสาหกรรมส่งออกได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบทางตรงเกิดจากการขาดแคลนวัตถุดิบและโรงงานได้รับความเสียหาย ส่วนโรงงานขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบทางอ้อม จากยอดสั่งซื้อสินค้าที่ลดลง ทั้งนี้ มูลค่าส่งออก 8 เดือนแรกของปี 54 ขยายตัวที่ร้อยละ 26.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสศค. คาดการณ์มูลค่าการส่งออกในปี 54 และปี 55 จะขยายตัวที่ร้อยละ 22.3 และ 13.7 ตามลำดับ
3. จีนแซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของสหภาพยุโรป
  • กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า มูลค่าการค้าระหว่างจีนและสหภาพยุโรปในเดือน ก.ย. 54 อยู่ที่ 3.56 หมื่นล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่หนึ่งของสหภาพยุโรปแทนประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับมูลค่าการส่งออกสหภาพยุโรปไปจีนอยู่ที่ระดับ 2.39 หมื่นล้านยูโร ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าของสหภาพยุโรปจากจีนในเดือน ก.ย. 54 นั้นอยู่ที่ 1.17 หมื่นล้านยูโร ขยายตัวร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนถือเป็นแหล่งนำเข้าอันดับแรกของสหภาพยุโรป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.4 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ดุลการค้าระหว่างจีนและสหภาพยุโรปในเดือน ก.ย. 54 ขาดดุลอยู่ที่ -1.22 หมื่นล้านยูโร
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่จีนก้าวเข้ามาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของสภาพยุโรปแทนสหรัฐฯเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกและการนำเข้า โดยสหภาพยุโรปมีการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้นแทนประเทศสหรัฐฯ ที่กำลังประสบปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูง โดยสินค้าส่งออกสำคัญของจีนไปยังสหภาพยุโรป ได้แก่ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การขนส่ง (สัดส่วนร้อยละ 51.4 ของมูลค่าการส่งออกสหภาพยุโรปทั้งหมด) ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเบ็ดเตล็ด (สัดส่วนร้อยละ 30.2) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วนร้อยละ 11.6) และเคมีภัณฑ์ (สัดส่วนร้อยละ 3.9)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ