รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 8, 2011 11:54 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือนกันยายน 2554

2. รายได้จากการจัดเก็บภาษีเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1

3. กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน

-----------------------------------

1. ดัชนีเศรษฐกิจที่สาคัญในเดือนกันยายน 2554

1.1 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) เดือนกันยายน 2554 ลดลงร้อยละ 4.0

กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economic Trade and Industry)ได้เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ของเดือนกันยายน 2554 ลดลงร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 89.9 (ปี 2548=100) ซึ่งการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากการเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนที่แข็งตัวขึ้น

1.2 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Core Consumer Price Index)

กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคยกเว้นอาหารสด (CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือนกันยายน 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 อยู่ที่ 99.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน

1.3 อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate)

อัตราการว่างงานเดือนมิถุนายน 2554 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่แล้วที่มีอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวในทางบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวจากสถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบ

1.4 การใช้จ่ายบริโภคเดือนกันยายน 2554 ลดลงร้อยละ 1.9

กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารได้เปิดเผยว่าการใช้จ่ายบริโภคประจำเดือนกันยายน 2554 ลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 7 เดือน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการซื้อรถยนต์ลดลงอย่างมาก

2. รายได้จากการจัดเก็บภาษีเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1

กระทรวงการคลังเปิดเผยว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้าอยู่ที่ 2.4603 ล้านล้านเยน โดยรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีผู้บริโภค ภาษีบุหรี่และสุราเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 6.4 16.6 และ 2.8 ตามลำดับ นอกจากนี้การนำเข้าถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้พลังงานไฟฟ้าแทนเนื่องจากการที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์หยุดการดำเนินการส่งผลให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำมันและถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.7 อยู่ที่ 49 พันล้านเยน

3. กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นและธนาคารกลางแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan (BOJ)) ได้ตัดสินใจเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนโดยการขายเงินสกุลเยนและซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเข้าแทรกแซงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือนนับตั้งแต่การแทรกแซงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 โดยค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แข็งค่าขึ้นอย่างมากจนเท่ากับ 75 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทาให้รัฐบาลญี่ปุ่นและ BOJ เกรงว่าหากค่าเงินเยนยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ธุรกิจการส่งออกและเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เริ่มฟื้นตัวภายหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติเมื่อเดือนมีนาคม 2554 นั้นชะลอตัวลงอีกครั้ง จึงได้ตัดสินใจเข้าแทรกแซงค่าเงินเยน โดยนาย Jun Azumi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า รัฐบาลได้มีการติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงความจำเป็นในการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนครั้งนี้ รวมทั้งยังได้ติดต่อกับรัฐบาลของสหภาพยุโรปเพื่อชี้แจงความจำเป็นก่อนที่จะเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนด้วย นาย Azumi ยังได้กล่าวอีกว่ารัฐบาลและ BOJ ยังจะดำเนินการแทรกแซงต่อไปจนว่าค่าเงินเยนจะอยู่ในระดับที่เห็นสมควร ซึ่งหลังจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนได้อ่อนตัวลงไปอยู่ที่ระดับ 79 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และตลาดการเงินได้ประเมินว่ากระทรวงการคลังและ BOJ ได้ใช้เงินประมาณ 7.5 ล้านล้านเยนในการแทรกแซงครั้งนี้

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ