รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 11, 2012 12:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2555

Summary:

1. ยอด NPLs ในระบบสถาบันการเงินในไตรมาสที่ 1 ปี 55 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า

2. Fitch ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของไทย พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตร้อยละ 5.5

3. มูลค่าการส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือน เม.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 4.9 และ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Highlight:
1. ยอด NPLs ในระบบสถาบันการเงินในไตรมาสที่ 1 ปี 55 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในระบบสถาบันการเงินล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 55 ว่าทั้งระบบมียอด NPLs ที่ยังไม่หักกันสำรองหนี้ (Gross NPLs) ทั้งสิ้น 2.74 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.68 ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ เพิ่มขึ้น 4,797 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ NPLs สุทธิหลังหักกันสำรองหนี้แล้ว (Net NPLs) มีจำนวน 1.32 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.32 ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 2,426 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากยอดคงค้างสินเชื่อในไตรมาสที่ 1 ปี 55 ได้เพิ่มขึ้นมากตามความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังภาวะน้ำท่วม โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 55 ยอดคงค้างสินเชื่อรวมในระบบอยู่ที่กว่า 11.9 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เมือเทียบกับณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้หากพิจารณาเปรียบเทียบสัดส่วน NPLs ดังกล่าวต่อยอดคงค้างสินเชื่อรวมแล้วถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า บ่งชี้ฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินที่ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ควรมีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังคงประสบกับความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะในยูโรโซน รวมถึงการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบมายังภาคการเงินของไทยได้
2. Fitch ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของไทย พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตร้อยละ 5.5
  • ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะแถลงผลการวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings (Fitch) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 55 ว่า Fitch ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศที่ระดับ BBB ด้วยแนวโน้มที่มีเสถียรภาพ(Stable Outlook) โดย Fitch เห็นว่า การยืนยันอันดับและแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยในครั้งนี้สะท้อนถึงสถานะการเงินต่างประเทศที่เข้มแข็ง อีกทั้งการเมืองมีเสถียรภาพหลังจากการเลือกตั้งในปี 54 เป็นไปโดยเรียบร้อย อย่างไรก็ดี Fitch ยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาคการคลังและการบริหารจัดการนโยบายของรัฐตลอดจนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ Fitch คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.5 ในปี 55
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีเสถียรภาพทั้งภายในและภายนอก โดยเสถียรภาพภายในสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย.55 ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่ อัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ณ เดือน ก.พ.55 ระดับหนี้สาธารณะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำเพียงร้อยละ 41.1 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ร้อยละ 60 อีกทั้งเสถียรภาพภายนอกยังคงอยู่ในระดับดี ด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงถึง 178.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 27 เม.ย. 55 หรือเทียบเท่ากับ 3.1 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งทุนสำรองฯ ในระดับสุงนี้ จะช่วยให้ไทยพร้อมรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากเศรษฐกิจดลกที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบางได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 55 นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 5.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค.55)
3. มูลค่าการส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือน เม.ย.55 ขยายตัวร้อยละ 4.9 และ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สำนักงานศุลกากรจีน เปิดเผย มูลค่าการส่งออกจีน เดือน เม.ย.55 ขยายตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย.55 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ -1.5 และ -9.7 ตามลำดับ(หลังหักผลทางฤดูกาล) ส่งผลทำให้จีนเกินดุลการค้าในเดือน เม.ย. 55 เกินดุลอยู่ที่ 18.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาคการส่งออกและการนำเข้าของในเดือน เม.ย.55 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า (หลังหักผลทางฤดูกาล) เนื่องจากการแข็งค่าของเงินหยวนและอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตหนี้สาธารณะ เนื่องจากยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของจีน โดยมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 13.9 (สัดส่วนปี 2554) อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าที่หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าของจีนนั้น ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนปี 55 จะขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนที่ร้อยละ 8.0 (คาดการณ์ ณ. เดือน มี.ค.55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ