รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 14, 2012 16:26 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.6
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มิ.ย. 55 เกินดุลเล็กน้อยที่ 603.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 68.2
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,668.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 52.0 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.6 ของ GDP
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 55 ของสหรัฐอเมริกา (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 55 อินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 55 (เบื้องต้น) ของไต้หวันหดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีน จัดทำโดย NBS เดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ 50.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
Jul: TISI (Index)                      101.0                102.7
  • เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของอีกหลายประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่ส่งกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศด้านสถานการณ์ทางการเมืองที่มีแนวโน้มตึงเครียดและต้นทุนปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าดัชนีดังกล่าวจะคงอยู่ในระดับที่เกิน 100 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับดี เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาของการเพิ่มกำลังผลิตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมต่างๆ
Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.6 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญ ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ เป็ดและไก่ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 1.9 อยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลงร้อยละ -0.3 จากการลดลงของดัชนีในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่นเรียบดำ) ลดลงร้อยละ -1.7 และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ (อิฐมอญ อลูมิเนียมแผ่นเรียบ) ลดลงร้อยละ -0.4 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนทำให้ความต้องการวัสดุก่อสร้างชะลอตัวลง
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มิ.ย. 55 เกินดุลเล็กน้อยที่ 603.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -1,540.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยดุลการค้าเกินดุลที่ 1,643.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการนำเข้าที่ชะลอตัวลงมาก ในขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิขาดดุลลดลงโดยอยู่ที่ -1,040.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินค่าระวางสินค้าและค่าโดยสารเดินทางที่ลดลงตามการนำเข้าสินค้าที่ชะลอลง ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2 ปี 55 ขาดดุล -2,452.8 ลดลงมากจากไตรมาส 1 ปี 55 ที่เกินดุล550.9 ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 55 ขาดดุล -1,901.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 68.2 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 68.5 โดยมีปัจจัยกดดันจาก 1. สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 55 จากร้อยละ 6.0 เป็นร้อยละ 5.7 เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศสหภาพยุโรปและอเมริกา ที่จะส่งผลกระทบการส่งออกไทย 2. การปรับขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ทำให้มีแรงกดดันในเรื่องค่าครองชีพ และ 3. ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน
  • สินเชื่อเดือน มิ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.8 ทั้งนี้หากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่า ทั้งสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤตอุทกภัย ทั้งนี้ อุปสงค์ภายในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน และการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจส่งผลลบต่อภาคการส่งออก รวมถึงเศรษฐกิจไทยในอนาคต
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.6 โดยหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้วพบว่า ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 4.9 สะท้อนการเร่งระดมเงินฝากอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาฐานลูกค้า
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือน มิ.ย. 55 หดตัวร้อยละ -19.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.2 โดยปริมาณการจำหน่ายเหล็กเส้นข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 65.4 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) หดตัวร้อยละ -31.3 ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายเหล็กเส้นกลม(น้ำหนักร้อยละ 14.0) หดตัวร้อยละ -40.5 ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 55 ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศหดตัวร้อยละ -6.4
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,668.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 52.0 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.6 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) เพิ่มขึ้นสุทธิ 36.6 พันล้านบาท เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมีการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ มากกว่าชำระคืนต้นเงินกู้จำนวน 30.0 พันล้านบาท สำหรับหนี้ของรัฐบาล เพิ่มขึ้นสุทธิ 17.5 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 15.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยยังถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 96.0 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 92.8 ของยอดหนี้สาธารณะ)
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 55 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 101.0 ปรับลดลงเล็กน้อยต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 102.7 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของอีกหลายประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศด้านสถานการณ์ทางการเมืองที่มีแนวโน้มตึงเครียดและต้นทุนปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าดัชนีดังกล่าวจะคงอยู่ในระดับที่เกิน 100 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับดี เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาของการเพิ่มกำลังผลิตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมต่างๆ

Global Economic Indicators: This Week

USA: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 55 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงร้อยละ 13.0 ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.9 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 65.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 62.7 จุด จากดัชนีแนวโน้มธุรกิจและการจ้างานในระยะสั้นที่ดีขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด ในขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.6 จุด การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.ค. 55 เพิ่มขึ้น 163,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม แรงงานที่กลับเข้าสู่ตลาดมากขึ้นทำให้อัตราว่างงานปรับสูงขึ้นเล็กน้อยที่รอยละ 8.3 ของกำลังแรงงานรวม
China: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม จัดทำโดย NBS เดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ 50.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีผลผลิตสินค้า ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ ดัชนีการจ้างงาน และดัชนีสินค้าคงคลังที่ลดลง ขณะที่ดัชนีฯ ที่จัดทำโดย HSBC ปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 49.3 จุด จากดัชนีสินค้าที่เพิ่มขึ้นเกินระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 30 เดือน จากราคาอาหารที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่ค่าขนส่งหดตัว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปีสอดคล้องกับยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 13.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3.5 ปี
Euro Zone: worsening economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อ (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.ค. 55 ทรงตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.4 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ก.ค. 55 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 46.5 จุด ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 55 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 11.2 ของกำลังแรงงานรวม สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 55 หดตัวร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
Japan: mixed signal
  • อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อย ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 55 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.9 จุด จากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลงโดยเฉพาะไต้หวันและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของญี่ปุ่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 55 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 39.7 จุด ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 53 จากความกังวลในเศรษฐกิจโลก
Hong Kong: improving economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 11.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายในหมวดอาหารและรถยนต์เป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ก.ค. 55 เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือนที่ระดับ 50.3 สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่มีสัญญาณฟื้นตัว
Indonesia: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 2.3 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการลงทุนขยายตัวดีที่ร้อยละ 12.3 อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 4.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากราคาอาหารสำเร็จรูป มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 55 หดตัวมากสุดในรอบเกือบ 3 ปี ที่ร้อยละ -16.4 จากการส่งออกไปจีนที่หดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 10.7 ทำให้อินโดนีเซียขาดดุลการค้า -1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 55 อยู่ที่ 51.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่สูงขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า
Malaysia: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอลง มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงมากที่ร้อยละ 3.6 จากภาคการผลิตที่ชะลอตัว ส่งผลให้ดุลการค้ายังเกินดุลที่ 9.2 พันล้านริงกิต ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.7 จากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลง
Singapore: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือน ก.ค. 55 ลดลงแตะระดับ 49.8 จุด ชี้การหดตัวของภาคการผลิต จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ การส่งออก และการจ้างงานที่ลดลง
India: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 55 หดตัวร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกไปยูโรโซน มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 55 หดตัวร้อยละ -13.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของการนำเข้าน้ำมันเป็นสำคัญ
Taiwan: worsening economic trend
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 55 (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.8 จากไตรมาสก่อน (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 55 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ -11.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ค. 55 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -3.2 จากสินค้าทุนและเครื่องมือเครื่องจักร ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 55 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 47.5 จุด
South Korea: worsening economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 55 ลดลงต่ำสุดในรอบ 12 ปีที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าอุตสาหกรรมและอาหารสดที่ลดลง มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 55 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 55 หดตัวที่ร้อยละ -8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 55 ลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ระดับ 47.2 จากคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ลดลง
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสุงขึ้นต่อเนื่อง ใกล้ระดับ 1,220 จุด โดย ณ วันที่ 9 ส.ค.55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,217.7 จุด เนื่องจากมีแรงซื้อของนักลงทุนเป็นจำนวนมากช่วงกลางสัปดาห์ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และ นักลงทุนต่างชาติ จากการที่นักลงทุนคาดว่า Fed และ ECB จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมเพิ่มเติม อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี โดยเฉพาะภาคการจ้างงาน ทำให้นักลงทุนกลับมาเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลกอีกครั้งและมีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risk appetite) ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 6 - 10 ส.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 5,127.5 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับตัวสูงขึ้นในพันธบัตรระยะสั้น ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรุ่น Benchmark อายุ 3-5 ปีในช่วงกลางสัปดาห์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 6 - 10 ส.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,663.5 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 9 ส.ค. 55 ปิดที่ระดับ 31.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ 0.16 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาค ทั้งค่าเงินริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่าค่าเงินสกุลหลัก โดยเฉพาะค่าเงินเยน ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20
  • ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 9 ส.ค. 55 ปิดที่ 1,617.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,610.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ