รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2555 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 30, 2012 15:09 —กระทรวงการคลัง

ฉบับที่ 39/2555

วันที่ 30 กรกฎาคม 2555

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ยังคงขยายตัวได้จากการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งจากการบริโภคและการลงทุน แต่ภาคการส่งออกเริ่มมีสัญญาณชะลอลงโดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2555 ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดี”

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า “เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดี โดยมีแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศจากการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวได้ดี สะท้อนได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนมิถุนายน 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 6.3 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมิถุนายน 2555 ที่ขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 84.2 ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 77.0 จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.4 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 8.8 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 38.9 ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 22.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 68.3 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 62.3 ในขณะที่ภาคการส่งออกเริ่มมีสัญญาณชะลอลง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมิถุนายน 2555 หดตัวร้อยละ -4.2 ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 หดตัวร้อยละ -0.04 โดยเป็นการหดตัวของการส่งออกไปยังประเทศ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และฮ่องกง เป็นสำคัญ”

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวในเดือนมิถุนายน 2555 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปที่หดตัวในระดับสูงกว่าร้อยละ -17.6 ซึ่งการส่งออกที่ชะลอตัวนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2555 ที่หดตัวร้อยละ -9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน”

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุปว่า “ในระยะต่อจากนี้ไป ประเด็นทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองมี 2 ประเด็น คือ (1) ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดยังคงสะท้อนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มสหภาพยุโรปล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2555 ที่หดตัวร้อยละ -2.8 และอัตราการว่างงานของกลุ่มสหภาพยุโรปที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 11.1 และ (2) ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย ที่สะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 7.6 ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี จากการชะลอตัวของการส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียที่กำลังประสบปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 7.3 อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทย และเสถียรภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2555 สามารถขยายตัวได้ตามคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.7”

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ