เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ของปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 27, 2012 15:34 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2555 และไตรมาสที่ 1 ปี 2555 สามารถกลับมาขยายตัวได้ดีหลังจากวิกฤตอุทกภัย สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณการขยายตัวเป็นบวกในขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศมีสัญญาณชะลอลง ตามสัญญาณแผ่วลงของเศรษฐกิจคู่ค้า"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 มีสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัย สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.3 ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 12.0 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมีนาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ทำให้ทั้งไตรมาสขยายตัวร้อยละ 14.1 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 เช่นเดียวกับการบริโภคสินค้าคงทนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมีนาคม 2555 หดตัวในอัตราลดลงที่ร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อเดือน ทำให้ทั้งไตรมาสหดตัวในอัตราลดลงที่ร้อยละ -5.4 จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวถึงร้อยละ -42.3 แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 92.1 ต่อไตรมาส สำหรับยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2555 หดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ตามการหดตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนของภูมิภาค (โดยมีสัดส่วนร้อยละ 80.0 ของยอดขายรถจักรยานยนต์รวม) ที่หดตัวร้อยละ -1.3 ทำให้ทั้งไตรมาสหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -0.6 จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -12.7 และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 22.2 ต่อไตรมาส สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากปลายปี 2554 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมีนาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 66.5 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 65.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากวิกฤตอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ได้คลี่คลายลง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เช่น การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามราคาน้ำมัน ในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 มีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนมีนาคม 2555 ขยายตัวได้ดีร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนทั้งไตรมาสขยายตัวที่ร้อยละ 11.0 ปรับตัวดีขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 36.7 ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 33.4 ทำให้ทั้งไตรมาสขยายตัวร้อยละ 33.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -53.4 และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังหักผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 173.2 ต่อไตรมาส โดยได้รับปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ที่ขยายตัวร้อยละ 40.0 จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด และกำลังการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งสามารถเพิ่มการส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าที่ค้างจองได้มากขึ้น ตลอดจนนโยบายรถยนต์คันแรกของภาครัฐ สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง วัดจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนมีนาคม 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อเดือน ทำให้ทั้งไตรมาสขยายตัวร้อยละ 5.4 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 นอกจากนี้ ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมีนาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.0 ทำให้ทั้งไตรมาสขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยได้รับปัจจัยหลักมาจากความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ประกอบกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายโครงการยกเว้นภาษีเงินได้บ้านหลังแรก และความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่เริ่มกลับมาดีอีกครั้งสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) มีค่าเท่ากับ 54.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ที่มีค่าเท่ากับ 37.2 สะท้อนถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนมีนาคม 2555 พบว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนมีนาคม 2555 มีจำนวน 370.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 116.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 67.5 โดยมีรายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันจำนวน 351.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 124.1 ซึ่งแบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำจำนวน 283.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 100.4 และ (2) รายจ่ายลงทุนจำนวน 68.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 338.7 และ (3) รายจ่ายเหลื่อมปีจำนวน 18.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณ ที่ขยายตัวเร่งขึ้น เนื่องจากมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2555 ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ทำให้โครงการต่างๆ มีการเร่งเบิกจ่าย สำหรับผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)) ในเดือนมีนาคม 2555 เท่ากับ 141.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายงบประมาณที่สูงกว่ารายได้รัฐบาลทำให้ดุลการคลังในเดือนมีนาคม 2555 ขาดดุลจำนวน -231.3 พันล้านบาท สะท้อนนโยบายการคลังที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

4. การส่งออกในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 มีสัญญาณชะลอลง ตามสัญญาณแผ่วลงของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยพบว่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม 2555 มีมูลค่า 19.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานที่สูงของช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอลง โดยเฉพาะประเทศ ฮ่องกงและสหภาพยุโรป เป็นสำคัญ โดยเป็นการปรับตัวลดลงมากในหมวดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับหดตัวร้อยละ -53.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะทองคำที่มีการหดตัวลงร้อยละ 83.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ทั้งไตรมาสมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 54.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -3.9 จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.8 สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม 2555 พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 24.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 25.6 เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 ทำให้ทั้งไตรมาสมีมูลค่า 59.8 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 10.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.1 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนมีนาคม 2555 ขาดดุลอยู่ที่ -4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทั้งไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ขาดดุล -5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 มีสัญญาณฟื้นตัวเช่นกัน โดยเครื่องชี้ด้านการผลิตเบื้องต้น พบว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวดีขึ้นค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการผลิตภาคยานยนต์ สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ รถบรรทุก และรถจักรยานยนต์ที่กระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 100.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับเกิน 100 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันหลังวิกฤตอุทกภัยที่ผ่านมา สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของอุตสาหกรรมหลังเกิดวิกฤตอุทกภัย ประกอบกับการเร่งผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคเพื่อรองรับอุปสงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีปรับเพิ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม น้ำตาล และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม 2555 หดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผล และปศุสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าว และผลผลิตสุกร ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบวิกฤตอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตล่าช้าออกไป ประกอบกับความเสียหายจากโรคระบาดรอบใหม่ ทำให้ทั้งไตรมาสขยายตัวร้อยละ 1.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม 2555 หดตัวร้อยละ -8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.9 ตามการลดลงของราคาผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา และมันสำปะหลัง โดยมีสาเหตุหลักปัจากจจัยฐานที่สูงในช่วงต้นปี 2554 ที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในอัตราเร่งจากราคายางพารา และมันสำปะหลัง รวมถึงอุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลง ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.91 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 10.2 ต่อเดือน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1 ปี 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 5.7 ล้านคน กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ระดับร้อยละ 7.1 จากไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ที่หดตัวร้อยละ -4.4 จากผลกระทบของวิกฤตอุทกภัย โดยเป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่ขยายตัวร้อยละ 32.2 25.5 และ 19.2 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางยังคงหดตัวลงจากปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาค

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 0.6 เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและขนส่ง จากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ไข่ และผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป ขณะที่ราคาสินค้าประเภทข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ ปรับลดลง ทำให้ทั้งไตรมาสอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ทำให้ทั้งไตรมาสอยู่ที่ร้อยละ 2.7 สำหรับอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 2.56 แสนคน ซึ่งมีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 5.9 หมื่นคน จากเดือนก่อนหน้าที่มีผู้ว่างงาน 1.43 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 41.1 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน ร้อยละ 60.0 ทั้งนี้ เสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 อยู่ในระดับ 179.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.3 เท่า

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ