รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 กันยายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 7, 2012 11:31 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 กันยายน 2555

Summary:

1. ยอดขายรถจักรยานยนต์เดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

2. GDP เกาหลีใต้ (ตัวเลขปรับปรุง) ไตรมาสที่ 2 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. การจ้างงานออสเตรเลีย เดือน ส.ค. 55 ลดลง 8,800 ตำแหน่ง

Highlight:

1. ยอดขายรถจักรยานยนต์เดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • กรมขนส่งทางบก รายงานตัวเลขการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ในเดือน ส.ค. 55 มีจำนวน 190,482 คัน โดยแบ่งเป็นยอดการจดทะเบียนของในกรุงเทพฯ จำนวน 38,817 คัน และส่วนภูมิภาคจำนวน 151,665 คัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ 199,371 คัน หรือหดตัวที่ร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถจักรยานยนต์ในเดือน ส.ค. 55 หดตัวจากยอดขายในเขตภูมิภาคที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากรายได้เกษตรกรปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะราคายางพารา และมันสำปะหลัง ที่ยังคงหดตัวในระดับสูง ในขณะที่ยอดขายในเขตกรุงเทพฯ หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.6 เนื่องจากปัจจัยฐานสูงปีก่อนที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ขยายตัวในระดับสูง ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 55 ปริมาณการจำหน่ายรถจักยานยนต์ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงการบริโภคสินค้าคงทนของคนระดับฐานรากที่เริ่มขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.9
2. GDP เกาหลีใต้ (ตัวเลขปรับปรุง) ไตรมาสที่ 2 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้รายงานตัวเลขปรับปรุงของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า จากวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปส่งผลกระทบโดยตรงกับยอดการส่งออก อีกทั้งการSET บริโภคภายในประเทศขยายตัวชะลอลง เพิ่มแรงกดดันต่อธนาคารกลางเกาหลีใต้ให้ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นสภาพคล่องทางการเงินในกระแสระบบให้มากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า โครงสร้างหลักของเศรษฐกิจเกาหลีใต้พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยคิดเป็นร้อยละ 52.1 ของ GDP (สัดส่วนปี54) โดยสหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญของเกาหลีใต้ ด้วยสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 7.0 ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 54 วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปจึงส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกของเกาหลีใต้ อีกทั้งเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ด้วยสัดส่วนการส่งออกไปยังจีนที่สูงถึงร้อยละ 26.1 ของมูลค่าส่งออกรวมปี 54โดยในเดือน ส.ค. 55 มูลค่าส่งออกรวมของเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกของเกาหลีใต้ไปยังประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน และยุโรป ในเดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -5.6 และ -9.3 ตามลำดับ นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในประเทศยังส่งสัญญาชะลอลง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศ สะท้อนจากยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในอัตราที่ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 99.0 บ่งชี้ว่าภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่นต่อการบริโภคทั้งนี้ สศค. คาดการณ์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ทั้งปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 55 โดยอาจมีการปรับการคาดการณ์อีกครั้งในเดือนนี้
3. การจ้างงานออสเตรเลีย เดือน ส.ค. 55 ลดลง 8,800 ตำแหน่ง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้าง เดือน ส.ค. 55 ลดลง 8,800 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือน ส.ค. 55 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.2 ของกำลังแรงงานรวม ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 5.1
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียในไตรมาส 2 ปี 55 ขยายตัวในอัตราชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกันช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ครึ่งแรกของปี 55 เศรษฐกิจออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของออสเตรเลียเป็นสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทั้งภาคการส่งออกที่ขยายตัวอัตราที่ต่ำในเดือน มิ.ย. 55 ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจที่ต้องปรับลดการจ้างงานลง ผนวกกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ บ่งชี้ว่า การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางออสเตรเลียอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในเดือน ก.ย. 55 จากการปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในเดือน มิ.ย. 55 ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ออสเตรเลียให้ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นภายใต้แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ลดลง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ