รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 5, 2012 10:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2555

Summary:

1. ปลายเดือน ต.ค. 55 ถึงต้นเดือน พ.ย. 55 ราคายางพาราไทยอาจเพิ่มขึ้นถึงระดับ 100 บาทต่อกิโลกรัม

2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 อยู่ที่ระดับ 51.3

3. การโต้วาทีครั้งแรกระหว่างโอบามา และ รอมนีย์ จบลงด้วยร้อยละ 67 ของผู้ชมเชื่อว่านายรอมนีย์จะชนะการเลือกตั้ง

Highlight:

1. ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร คาดว่าประมาณปลายเดือน ต.ค. 55 ถึงต้นเดือน พ.ย. 55 ราคายางพาราไทยน่าจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 100 บาทต่อกิโลกรัม
  • ดร. จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร คาดปลายเดือน ต.ค. 55 ถึงต้นเดือน พ.ย. 55 ราคายางพาราไทยจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 100 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณดีขึ้นป็นสำคัญ อาทิ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเสริมสภาพคล่องต่อเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง ยอดจำหน่ายยานพาหนะของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ระดับสูงสุดจากเดือน มี.ค. 51 ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มดีขึ้น ส่งสัญญาณว่าอุปสงค์ต่อยางพารามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้านอุปทานลดลงจากข้อตกลงของไตรภาคียางพาราลดปริมาณการส่งออก 3 แสนตันระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกยางพาราสำคัญของโลก เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 55 และเวียดนามตกลงเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวด้วย จะทำให้ปริมาณการผลิตที่ส่งเข้าสู่ตลาดโลกลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 54 ราคายางพาราตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เดือน ส.ค. 55 ราคายางพาราหดตัวร้อยละ -38.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับราคายางพารารมควันขั้น 3 เพื่อการส่งออกเดือนเดียวกันที่หดตัวร้อยละ -40.2 และในระยะต่อไปราคายางพาราอาจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มยางพาราในระยะต่อไปอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนที่ส่งสัญญาณดีขึ้นในระยะนี้ เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงอาจทำให้อุปสงค์ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจของยุโรปที่ยังไม่คลี่คลายลงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวต่อไป
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ไตรมาสที่ 3 ปี 55 อยู่ที่ระดับ 51.3 จุด
  • ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ไตรมาสที่ 3 ปี 55 อยู่ที่ระดับ 51.3 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่แล้วที่ 55.8 และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 56.2 ขณะที่ดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ไตรมาสที่ 3 ปี 55 อยู่ที่ 69.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 67.9 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วที่ 68.6
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี เพราะยังอยู่เหนือค่ากลางที่ระดับ 50 จากความกังวลของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์ฝนที่ค่อนข้างชุกในกรุงเทพและเขตปริมณฑล ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ของไทย อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังสดใส จากตัวเลขดัชนีความคาดหวังที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือน ส.ค. 55 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.7 สะท้อนต้นทุนด้านก่อสร้างที่ลดลง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจอสังหาฯ อีกทั้งอุปสงค์ของบ้านยังคงอยู่ในระดับสูงจากนโยบายบ้านหลังแรก ซึ่งสอดคล้องกับสิ้นเชื่อเพี่อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่ขยายตัวที่ร้อยละ 9.0 ในไตรมาสที่ 2 ปี 55 ขณะที่ขยายตัวได้ 9.2 ในไตรมาสที่ 1 ปี 55
3. โต้วาทีครั้งแรกระหว่างโอบามา และรอมนีย์ จบลงด้วยร้อยละ 67 ของผู้ชมเชื่อว่านายรอมนีย์จะชนะการเลือกตั้ง
  • การโต้วาทีครั้งแรกระหว่างนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรค Democrat และนายมิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครฯ จากพรรค Republican ในวันนี้ (หรือ 3 ต.ค. 55 เวลาสหรัฐฯ) ซึ่งใช้เวลากว่า 90 นาทีนั้น จบลง โดยผลการหยั่งเสียง ร้อยละ 67 ของผู้ชมเชื่อว่านายรอมนีย์จะชนะการเลือกตั้ง ขณะที่ร้อยละ 25 เชื่อว่านายโอบามาเป็นผู้ชนะ ขณะเดียวกันผู้ชมการโต้วาทีสดมีแนวโน้มลงคะแนนเสียงให้นายรอมนีย์ถึงร้อยละ 35 ส่วนนายโอบามานั้นมีเพียงร้อยละ 18 ขณะที่อีกร้อยละ 47 เชื่อว่าการโต้วาทีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 6 พ.ย. 55 นี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การโต้วาทีของสองผู้สมัครเน้นนโยบายพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการจ้างงานสหรัฐฯ เป็นสำคัญ โดยนายโอบามากล่าวถึงแผนการสร้างงานด้วยการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดย่อม เพื่อลดการว่างงานซึ่งปัจจุบันในระดับสูงที่ร้อยละ 8.1 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่นายรอมมีย์ กล่าวถึงแผนลดภาษีสำหรับชนชั้นกลางและตั้งเป้าการสร้างงาน 4 ล้านตำแหน่ง ซึ่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศนั้นมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของประชาชน ทั้งนี้ ผลการหยั่งเสียงแสดงว่า นายโอบามาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการโน้มน้าวผู้ชมด้วยนโยบายเศรษฐกิจของพรรค Democrat ที่ดำเนินต่อเนื่องมา 4 ปี ซึ่งอาจเป็นผลจากการคาดหวังในตัวนายโอบามาที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้ชั้นเชิงการพูดของนายรอมมีย์จึมีภาษีดีกว่า กอปรกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 51 ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยมีการจ้างงานหายไป (Job loss) กว่า 4 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นการจ้างงานภาคก่อสร้างเป็นสำคัญ ทำให้ผู้ชมสนใจนโยบายของผู้สมัครฯ ที่นำเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ๆ
  • อย่างไรก็ตาม ผลโพลจาก Realclearpolitics ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 55 คะแนนเสียงของนายโอบามาอยู่ที่ 269 เสียง โดยยังคงมากกว่านายรอมมีย์ซึ่งอยู่ที่ 181 เสียง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ