รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 22, 2012 13:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2555

Summary:

1. เอาแน่เก็บ"VAT"อีคอมเมิร์ซ คลังเชื่อมไอทีตามติดธุรกรรม

2. คาดผลผลิตอ้อยในปี 55/56 อยู่ที่ 94.64 ล้านตัน

3. โกลด์แมน แซคส์ ฟันธงหมดช่วงขาขึ้นราคาน้ำมันโลก

Highlight:

1. เอาแน่เก็บ"VAT"อีคอมเมิร์ซ คลังเชื่อมไอทีตามติดธุรกรรม
  • อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแผนการจัดเก็บภาษีใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการค้าและการดำเนินธุรกิจรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจในอาเซียนในปี 2558 โดยระบบที่ปรับใหม่ต้องเชื่อมโยงกับการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต (อี-คอมเมิร์ซ) ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นหลังจากเปิดเออีซี ดังนั้น การซื้อขายผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซ หากเกิดขึ้นในไทยควรต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ซื้อขายในไทยที่เสียภาษีปกติ นอกจากนี้ กรมได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงระบบไอทีด้านภาษีทั้งระบบ โดยหลังจากนี้ไปหากเกิดการซื้อขายขึ้นที่ใด กรมจะทราบทันทีว่ามีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ จะช่วยทำให้จัดเก็บภาษีของกรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจในอาเซียนปี 2558 ระบบภาษีของไทยควรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของไทย รวมถึงเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยนโยบายที่ได้จัดทำไปแล้วคือ การลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในปี 55 และลดเหลือร้อยละ 20 ในปี 56 และมาตรการด้านภาษีนำเข้าของกรมศุลกากรที่ได้มีการปรับลดอย่างต่อเนื่องเพื่อลดกำแพงทางการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ประกอบกับการจัดทำข้อมูลของกรมศุลกากรที่จะพัฒนาให้เป็นระบบ National Single Window เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มความรวดเร็วให้กับพิธีการศุลกากร นอกจากนี้ มาตรการการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากอี-คอมเมิร์ซยังเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องทำ เนื่องจากในอนาคต การซื้อขายผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการจัดเก็บภาษี รัฐจะสูญเสียรายได้อย่างมาก โดยภาษีมูลค่าเพิ่มนับเป็นภาษีที่มีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากมีสัดส่วนถึงร้อยละ 33.3 จากรายได้รัฐบาลทั้งหมด คิดเป็นเงินถึง 659,198 ล้านบาทในปีงบประมาณ 55
2. คาดผลผลิตอ้อยในปี 55/56 อยู่ที่ 94.64 ล้านตัน
  • รายงานข่าวคณะกรรมการอ้อย (กอ.) เปิดเผยว่า กอ.ได้คาดการณ์ปริมาณอ้อยทั่วประเทศในฤดูกาลผลิตปี 55/56 ที่ระดับ 94.64 ล้านตันอ้อย ปรับลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 97.98 ล้านตันอ้อย เนื่องจากชาวไร่อ้อยประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกค่อนข้างมาก ทำให้เป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 100 ล้านตัน เป็นไปได้ยาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศ นอกจากนี้จากการที่ในปี 56 มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตรในปีเพาะปลูกปี 55/56 ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง ดังนั้นการเร่งโครงการลงทุนภาครัฐ ในส่วนของระบบชลประทาน จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากจะช่วยสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรแล้ว ในระยะยาวจะช่วยลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตอีกด้วย อย่างไรก็ดี คาดว่าจากการที่ภาคการผลิตสินค้าเกษตรประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง จะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากระดับรายได้ที่ลดลงตามราคาสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลงมากในช่วงปี 55 โดยในช่วง 8 เดือนแรกปี 55 ราคาสินค้าเกษตรหดตัวที่ร้อยละ -11.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
3. โกลด์แมน แซคส์ ฟันธงหมดช่วงขาขึ้นราคาน้ำมันโลก
  • โกลด์แมน แซคส์ ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ บอกว่าวัฏจักรช่วงขาขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้สิ้นสุดลงแล้ว พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงคำแนะนำด้านการลงทุนในเชิงบวกต่อราคาน้ำมันที่ดำเนินมานานหลายปี และระบุถึงปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐและแคนาดา โดยโกลด์แมน แซคส์ เคยเป็นผู้คาดการณ์ราคาสูงสุดในบรรดาผู้คาดการณ์ราคารายใหญ่ แต่ขณะนี้ออกมาฟันธงว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในระยะยาวอาจจะถูกตรึงอยู่ที่ระดับ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในช่วงขาขึ้นมาตั้งแต่กลางปี 55 โดยในเดือน มิ.ย. 55 ราคน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงไปอยู่ที่ 95.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลและปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 113.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในระยะต่อไปนั้นคาดว่าจะมีสาเหตุสำคัญจากการที่อุปสงค์ต่อเชื้อเพลิงจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรปได้ส่งผลให้ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดังกล่าวต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด ส่งผลให้คาดว่าอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการต่างๆ ลดลงตามไปด้วย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ