รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 3 - 7 ธันวาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 11, 2012 12:05 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างอยู่ที่ร้อยละ 1.0
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 69.4
  • สินเชื่อเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในขณะที่เงินฝากสถาบันการขยายตัวที่ร้อยละ 23.5

  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ต.ค. 55 ขาดดุลเล็กน้อยที่ -199.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม
  • GDP ออสเตรเลีย ไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5

จากไตรมาสก่อนหน้า

  • GDP เกาหลีใต้ (ตัวเลขปรับปรุง) ในไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ที่จัดทำโดยทางการจีน (NBS Mfg. PMI) เดือน พ.ย. 55

ปรับเพิ่มขึ้นอยู่moที่ระดับ 50.6 จุด

  • ในวันที่ 6 เดือน ธ.ค. 55 ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ธ.ค. 55 ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ญ
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
 Nov : API (%YoY)                      4.5                   5.4

ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำจากปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม สอดคล้องกับผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่คาดว่าผลผลิตจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปี 54

Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เนื่องมาจากการลดลงของราคาสินค้าประเภทผักและผลไม้ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่มีเทศกาลกินเจ รวมถึงสินค้าประเภทยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลกสำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าปรับตัวลดลงร้อยละ -0.2 จากการลดลงของดัชนีในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ร้อยละ -0.9 (เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ท่อแสตนเลส แผ่นแสตนเลส) โดยมีปัจจัยหลักจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวลดลง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับมีการนำเข้าเหล็กจากจีนจำนวนมาก เนื่องจากราคาต่ำกว่าเหล็กที่ผลิตภายในประเทศ ทำให้ราคาเหล็กในประเทศปรับตัวลดลง ในขณะที่ดัชนีหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาลดลงร้อยละ -0.2 (ท่อร้อยสายไฟ ท่อประปา ข้อต่อท่อประปา) จากราคาเม็ดพลาสติกลดลง ตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ลดลง
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ต.ค. 55 ขาดดุลเล็กน้อยที่ -199.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 1,769.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยดุลการค้าขาดดุล -145.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเป็นสำคัญ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรและอุปกรณ์ ในขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิขาดดุลเล็กน้อยที่ -53.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลที่ลดลง ขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 55 เกินดุล 1,605.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 69.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 68.1 และเป็นการปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกในเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 15.6 และความชัดเจนเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศในปี 56 อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย
  • สินเชื่อเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.7 ทั้งนี้หากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่า สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขณะที่สินเชื่อผู้บริโภคยังคงขยายตัวได้ดี โดยส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรถคันแรก ทั้งนี้ การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงผลสรุปประเด็นหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 25.0 โดยหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จะขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.2 จากการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาฐานลูกค้า รวมถึงการเร่งระดมเงินฝากอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ย. 55 มีจำนวน 176,604 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 28.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 24.0 ตามการเพิ่มของยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม.และในภูมิภาค ที่ขยายตัวร้อยละ 109.2 และร้อยละ 15.7 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 70.2 และร้อยละ 15.5 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำจากอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 ประกอบกับรายได้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ เนื่องจากยังคงได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 55 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การจ้างงานเดือน ต.ค.55 อยู่ที่ 39.21 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 9.10 แสนคน ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาล พบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 4.09 แสนคนจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานภาคบริการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ต.ค.55 คงที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 2.2 แสนคน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน พ.ย. 55 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำจากปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม สอดคล้องกับผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่คาดว่าผลผลิตจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปี 54

Global Economic Indicators: This Week

US: Mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน พ.ย. 55 ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ที่ระดับ 49.5 จุด ลดลงจากระดับ 51.7 ในเดือนก่อนหน้า จากดัชนีการจ้างงาน การส่งสินค้า และสินค้าคงคลังที่ปรับตัวลดลงมาก ผลส่วนหนึ่งจากเฮอร์ริเคนแซนดี้และความกังวลเรื่องประเด็นหน้าผาการคลัง ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (ISM Non-Mfg. PMI) เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 54.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.2 โดยดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ ดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ และดัชนีสั่งซื้อสินค้าคงค้างปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของภาคบริการสหรัฐฯ
China: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ที่จัดทำโดยทางการจีน (NBS Mfg. PMI) เดือน พ.ย. 55 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 50.6 จุด สอดคล้องกับดัชนีฯ ที่จัดทำโดย HSBC (HSBC Mfg. PMI) เดือนเดียวกัน ที่อยู่ที่ระดับ 50.5 ซึ่งอยู่เหนือระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือนจากการเร่งการลงทุนภาครัฐซึ่งส่งผลทางอ้อมให้อุตสาหกรรมภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกันดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (HSBC Serv. PMI) เดือน พ.ย. 55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันอยู่ที่ระดับ 55.6 จุด จากภาคการก่อสร้างที่ขยายตัว
Euro zone: worsening economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 55 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 55 อยู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 11.7 ของกำลังแรงงานรวม โดยอัตราว่างงานในสเปนและกรีซอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 26.2 และ 25.4 ของกำลังแรงงานรวม ตามลำดับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Markit Comp. PMI) เดือน พ.ย. 55 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.5 จุด บ่งชี้การหดตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจยูโรโซน ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 55 หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -1.6 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ -3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่มและเฟอร์นิเจอร์ที่หดตัวลงเป็นสำคัญ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ธ.ค. 55 ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี
Australia: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 55 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ของกำลังแรงงานรวม จากการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และถ่านหินที่เพิ่มขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ขยายตัวเร่งขึ้น วันที่ 4 ธ.ค. 55 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี จากเดิมที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี ส่วนหนึ่งจากความต้องการของภาครัฐในการกระตุ้นการลงทุนที่นอกเหนือจากการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และถ่านหิน
Philippines: improving economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 55 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน จากราคาอาหารและที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.2 และ 3.8 ตามลำดับ
Singapore: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน พ.ย. 55 เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 48.8 จุด แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 บ่งชี้การหดตัวของภาคอุตสาหกรรม
Hong Kong: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน พ.ย. 55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 9 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 52.2 สะท้อนภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้นชัดเจน ตามอุปสงค์จากจีนที่เพิ่มขึ้น
India: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 53.7 จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน พ.ย. 55 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 13 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 52.1 สะท้อนการชะลอลงของการผลิตในภาคบริการส่วนหนึ่งเป็นผลจากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลดิวาลี
South Korea: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 55 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนหดตัว มูลค่าการส่งออก (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ย. 55 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปยังจีนที่เร่งขึ้น ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยูโรโซนยังคงหดตัว มูลค่าการนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 55 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 48.2 โดยอยู่ระดับต่ำกว่า 50.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งอออกที่หดตัวต่อเนื่อง
Taiwan: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 55 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 47. 4 จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าจากราคาอาหารและเสื้อผ้าที่ปรับตัวลดลง
Indonesia: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 55 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ -7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ร้อยละ 10.8 สูงสุดในรอบ 3 เดือน ทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 55 ขาดดุลมากสุดเป็นประวัติการณ์ที่ -1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 55 ลดลงมาที่ระดับ 51.5 จุด แต่ยังคงบ่งชี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม จากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 55 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารที่ชะลอลงเป็นสำคัญ
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ใกล้ระดับ 1,340 จุด โดย ณ วันที่ 6 ธ.ค. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,339.88 จุด จากแรงซื้อของนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะดัชนี PMI ของจีนที่บ่งชี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมครั้งแรกในรอบ 13 เดือน โดยระหว่างวันที่ 3 - 6 ธ.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 4,427.37 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างทรงตัว โดยผลตอบแทนพันธบัตรอายุระหว่าง 5-10 ปีปรับลดลงบ้าง 1-2 bps แต่ปริมาณการซื้อขายเบาบาง โดยนักลงทุนยังรอแนวทางการแก้ปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐฯ อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 3 - 6 ธ.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -2,177.7 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดย ณ วันที่ 6 ธ.ค. 55 ปิดที่ระดับ 30.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.20 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะค่าเงินเยน ยูโร และริงกิตมาเลเซีย อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินของคู่ค้าโดยเฉลี่ย ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.26 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับลดลง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 6 ธ.ค. 55 ปิดที่ 1,698.62 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,714.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ