รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 11 มกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 14, 2013 11:02 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค.55 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8
  • วันที่ 9 ม.ค. 56 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ย.55 เกินดุลเล็กน้อยที่ 392.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 43.3 ของ GDP
  • สินเชื่อเดือน พ.ย.55 ขยายตัวร้อยละ 15.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินฝากสถาบันการเงินขยายตัวร้อยละ 24.2
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาส 4 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) สหรัฐฯ เดือน ธ.ค.55 กลับมาอยู่สูงกว่าระดับ 50 อีกครั้งที่ระดับ 50.7
  • อัตราการว่างงานสหภาพยุโรปเดือน พ.ย. 55 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 11.8 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Mfg. PMI) เดือน ธ.ค. 55 ที่จัดทำโดย NBS อยู่ที่ระดับ 50.6 จุด
  • วันที่ 10 ม.ค.55 ธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
Dec: TISI (Index)                      96.0                  95.2
  • แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 โดยเป็นผลมาจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและยังคงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับที่สูงจากราคาปัจจัยการผลิต อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี คาดว่าค่าดัชนีฯ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในบางหมวดอุตสาหกรรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ทำให้ทั้งปี 55 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคขยายตัวร้อยละ 0.4 (%mom) โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าประเภทเนื้อเป็ดไก่ รวมถึงราคาผักสดที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะอากาศแปรปรวนในช่วงที่ผ่านมาเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.1
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีในหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ร้อยละ 0.1 หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กร้อยละ 1.9 (เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นเรียบ) เป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น ทำให้ทั้งปี 55 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวที่ร้อยละ 3.6
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ย. 55 เกินดุลเล็กน้อยที่ 392.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -199.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยดุลการค้าเกินดุล 627.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกที่มีมูลค่าสูงถึง 19,332 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวดีเช่นกัน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าคงทน ในขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิขาดดุลเล็กน้อยที่ -234.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลที่สูงขึ้น ในขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 11 เดือนแรกของปี 55 เกินดุล 1,997.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนธ.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 70.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 69.4 และเป็นการปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 15 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกในเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 26.9 และความชัดเจนเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศในปี 56 อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ธ.ค. 55 มีจำนวน 162,277 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 22.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 28.0 ตามการขยายตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม.และในภูมิภาค ที่ขยายตัวร้อยละ 24.5 และร้อยละ 22.4 ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำจากอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 รวมถึงรายได้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ที่ได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทั้งนี้ ในปี 55 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากปี 54
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,827.3 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 109.9 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.3 ของ GDP ทั้งนี้ การลดลงของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ของรัฐบาลลดลงสุทธิ 112.5 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังจำนวน 102.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 94.2 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.1 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • วันที่ 9 ม.ค. 56 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 จากการที่ กนง. ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ดังนั้นการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันยังเป็นนโยบายที่เหมาะสมในการสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กนง. วิเคราะห์ว่ายังคงมีความจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพด้านการเงินที่อาจเกิดขึ้น จากการเร่งขึ้นของสินเชื่อ และหนี้ครัวเรือน รวมทั้งความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดต่อไป
  • สินเชื่อเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับช่วง เดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.2 ทั้งนี้หากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่า สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เร่งขึ้น ทั้งในส่วนของสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อผู้บริโภค ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) สอดคล้องกับการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรถคันแรก ทั้งนี้ การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 24.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 23.4 โดยหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.0 จากการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาฐานลูกค้า รวมถึงการเร่งระดมเงินฝากอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.43 ล้านล้านบาท โดยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 0.03 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขณะที่สินเชื่อขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.2 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ อุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จะส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวได้ต่อเนื่อง อันจะทำให้การแข่งขันเพื่อระดมทุนของธนาคารพาณิชย์ยังคงจะเข้มข้นต่อเนื่อง ส่งผลให้คาดว่าในเดือนสุดท้ายของปี 55 สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบัน หรือาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์จากนอกประเทศ รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวของสินเชื่อ และสถานะของสภาพคล่องได้ในระยะต่อไป
  • การจ้างงานเดือน พ.ย.55 อยู่ที่ 39.97 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 9.94 แสนคน ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาล พบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.51 แสนคนจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานภาคบริการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้อัตราการว่างงานเดือน พ.ย.55 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 1.6 แสนคน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. 55 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 96.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 95.2 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังทรงตัวในระดับที่ไม่ดีนัก โดยเป็นผลมาจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและยังคงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับที่สูงจากราคาปัจจัยการผลิต อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี คาดว่าค่าดัชนีฯ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในบางหมวดอุตสาหกรรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน ธ.ค. 55 กลับมาอยู่สูงกว่าระดับ 50 อีกครั้งที่ระดับ 50.7 จุด จากระดับ 49.5 จุดในเดือนก่อนหน้า ผลจากดัชนีคำสั่งสินค้าใหม่ ดัชนีการผลิต และดัชนีการจ้างงานที่ขยายตัว ในขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ (ISM Non-Mfg PMI) อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนที่ระดับ 56.1 จุด บ่งชี้ความแข็งแกร่งของภาคบริการสหรัฐฯ สอดคล้องกับการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ธ.ค. 55 เพิ่มขึ้น 155,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า จากการจ้างงานภาคบริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดการศึกษาและสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม แรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้นทำให้อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 55 คงที่อยู่ที่ร้อยละ 7.8 ของกำลังแรงงานรวม (ตัวเลขปรับปรุง)
Eurozone: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Markit's Comp. PMI) เดือน ธ.ค. 55 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ที่ 47.2 จุด โดยดัชนีฯ ภาคบริการ ปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 47.8 จุด ขณะที่ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 46.1 จุด สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนที่หดตัวชะลอลง อัตราเงินเฟ้อ (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ธ.ค. 55 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 55 หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 55 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 11.8 ของกำลังแรงงานรวม โดยสเปนยังคงมีอัตราการว่างงานสูงสุดในกลุ่มยูโรโซน วันที่ 10 ม.ค. 55 ธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี
Taiwan: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 55 เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 50.6 จุด สูงสุดในรอบ 8 เดือน จากคำสั่งซื้อใหม่สินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น สะท้อนการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้คียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในอัตราคงที่ มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งจากการส่งออกไปยังจีน และยูโรโซนที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
China: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Mfg. PMI) เดือน ธ.ค. 55 ที่จัดทำโดย NBS อยู่ที่ระดับ 50.6 จุด สะท้อนการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมของจีนและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน สอดคล้องกับดัชนีฯ ที่จัดทำโดย HSBC อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด สูงสุดในรอบ 19 เดือนขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Serv. PMI) เดือน ธ.ค. 55 ที่จัดทำโดย NBS อยู่ที่ระดับ 56.1 จุดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงสุดในรอบ 4 เดือน ด้านดัชนีฯ ที่จัดทำโดย HSBC ลดลงเล็กน้อยแต่ยังเหนือระดับ 50.0 จุดที่ระดับ 51.7 จุด สะท้อนการขยายตัวของภาคบริการ
Indonesia: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 55 หดตัวติดกันเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ -4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 9.9 ทำให้ดุลการค้าขาดดุลลดลงที่ -478 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ธ.ค. 55 ลดลงมาที่ระดับ 50.7 จุด จากคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ลดลง ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 17.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนจากยอดขายเสื้อผ้าเครื่องประดับและยานพาหนะที่ชะลอลง
Malaysia: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.2 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนมาที่ร้อยละ 4.3 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 9.3 พันล้านริงกิต ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยฐานต่ำจากอุทกภัยในไทยในปี 54 ที่กระทบห่วงโซ่อุปทาน
Philippines: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเครื่องนุ่งห่มและสินแร่ที่หดตัวร้อยละ -13.0 และ -22.4 ตามลำดับ
Singapore: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.8 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากภาคบริการเป็นสำคัญ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ธ.ค. 55 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.6 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่สินค้าส่งออกที่ปรับลดลง
Australia: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 55 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ร้อยละ -7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังยูโรโซนและญี่ปุ่นที่หดตัวเร่งขึ้น มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เร่งขึ้น สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวดี
Hong Kong: improving economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าคงทนที่ขยายตัวเร่งขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ธ.ค. 55 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 51.7 จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลง แต่ยังคงบ่งชี้การขยายตัว
India: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 54.7 จุด สูงสุดในรอบ 6 เดือน จากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เป็นสำคัญ บ่งชี้ภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี
South Korea: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 55 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วง เดียวกันปีก่อน จากราคาค่าเล่าเรียนที่ปรับตัวลดลงตามนโยบายของภาครัฐ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 50.0 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 50.1 จากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกยังคงสะท้อนการหดตัว สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออก(ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ธ.ค. 55 ที่หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า(ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ธ.ค. 55 หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -5.3
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงกลางสัปดาห์เกินระดับ 1,420 จุด ก่อนจะลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 10 ม.ค. 56 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,405.99 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่สูงถึง 53,421 ล้านบาทต่อวัน จากการซื้อขายหุ้นแบบ big lot ของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 7-10 ม.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,408.09 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับขึ้นเล็กน้อย โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 3 ปีปรับขึ้นเล็กน้อย 1-5 bps จากสัปดาห์ก่อน ด้วยแรงซื้อขายเบาบาง โดยนักลงทุนให้ความสำคัญกับผลการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 56 ที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 7-10 ม.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 554.7 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 10 ม.ค. 56 ปิดที่ระดับ 30.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.16 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินยูโร หยวน ริงกิตมาเลเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์ ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มีเพียงเงินเยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการทำมาตรการ QE ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.24 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับสูงขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 10 ม.ค. 56 ปิดที่ 1,674.64 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,646.64 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ