รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 4, 2013 10:42 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 เมษายน 2556

Summary:

1. กนง.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี

2. "ธีระชัย" เชื่อรัฐขึ้นแวตใช้หนี้ 2.0 ล้านล้าน

3. อัตราการว่างงานยูโรโซนในเดือน ก.พ. 56 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 12.0 สูงสุดเป็นประวัติการณ์

Highlight:

1. กนง.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไปยังเอื้อต่อการขยายตัวทาง เศรษฐกิจ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังคือความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับนโยบายการเงินตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อลดลง สะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 1 ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงสามารถขยายตัวได้ดี โดยการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะอยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 -3.5 ต่อปีในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.25 -3.2 ต่อปี
2. "ธีระชัย" เชื่อรัฐขึ้นแวตใช้หนี้ 2.0 ล้านล้าน
  • นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุถึง การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทเมื่อรวมกับดอกเบี้ย รวมเป็น 5 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลมีนโยบายเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดาต่ำ เพื่อให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ผลักดันเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดิน สุดท้ายเหลือช่องทางเดียว คือเพิ่ม VAT
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตามมติครม. มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7 % ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือน ก.ย. 55 ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่ 1 ต.ค 55 -30 ก.ย. 57 และจะเริ่มจัดเก็บอัตรา 9%ตั้งแต่ 1 ต.ค.57 ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 56 สามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 830.2 พันล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 13.0 โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีรถยนต์ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจาก พ.ร.บ. กู้เงิน 2.0 ล้านล้าน นั้น จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ที่ทำให้การลงทุนขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากการลงทุนในโครงข่ายคมนาคมจะช่วยให้การคมนาคมระหว่างจังหวัดต่างๆ สะดวกขึ้น ใช้เวลาน้อยลง นำความเจริญไปสู่ภูมิภาค และเป็นการเพิ่มอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น การลงทุนก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งบ้านเดี่ยว อาคารพาณิชย์ คอนโดมีเนียม การลงทุนก่อสร้างโรงแรมและภัตตาคารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น และการลงทุนก่อสร้างโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิตให้รองรับอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น
3. อัตราการว่างงานยูโรโซนในเดือน ก.พ. 56 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 12.0 สูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท รายงานว่าอัตราการว่างงานยูโรโซนในเดือน ก.พ. 56 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 12.0 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์และส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคยังคงอยู่ในภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.9
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานที่ทรงตัวในระดับสูงสะท้อนถึงเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ยังคงอยู่ในภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 55 หดตัวร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสแดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.6 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวร้อยละ -0.6 หดตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.1 ทำให้GDP ทั้งปี 55 หดตัวร้อยละ -0.5 สำหรับด้านการผลิตก็มีทิศทางที่ซบเซาลงต่อเนื่อง โดยล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมในเดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 46.9 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับ 50.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 46.6 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการอยู่ที่ระดับ 46.5 นอกจากนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 56 เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวร้อยละ-0.4 ซึ่งหดตัวเป็นครั้งที่4ในรอบ5 เดือน โดยเป็นผลจากผลผลิตในหมวดสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคคงทนที่หดตัวเร่งขึ้น อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศมีสัญญาณที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น สะท้อนจากยอดค้าปลีกในเดือน ม.ค. 56 หดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 1.2 รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ -23.5 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -23.6 จุด ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 56 จะหดตัวร้อยละ -0.2 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ