รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 1, 2013 13:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 มีนาคม 2556

Summary:

1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทั้งปี 56 นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางมากรุงเทพฯ 19.2 ล้านคน

2. ธปท. เผยว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ม.ค. 56 จะขยายตัวต่อเนื่อง

3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวในอัตราต่ำร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า

Highlight:

1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทั้งปี 56 นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางมากรุงเทพฯ 19.2 ล้านคน
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทั้งปี 56 นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจะเดินทางมายังกรุงเทพฯ คิดเป็นจำนวน 19.2 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนร้อยละ 11.3 โดยร้อยละ 93.2 เป็นนักท่องเที่ยวแบบค้างคืนในกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดรายได้จากนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้คิดเป็นมูลค่า 3.48 แสนล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งร้อยละ 10.1 จากปีก่อน โดยร้อยละ 28.5 ของรายได้ทั้งหมดเป็นค่าที่พักแรม รองลงมาคือ ด้านการจับจ่ายใช้สอยสินค้า และด้านอาหารและเครื่องดื่ม ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กรุงเทพฯ อุดมไปด้วยความหลากหลายทั้งด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ รสชาติอาหารที่หลากหลาย และเป็นศูนย์กลางการเดินทางเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางภูมิศาสตร์ ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวเมืองหนึ่งและสามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ในทุกช่วงเวลา ประกอบกับองค์กรทั้งไทยและต่างประเทศให้การยอมรับกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดเมืองหนึ่ง สะท้อนจากรางวัลและการจัดอันดับของสถาบันต่างๆ เฉพาะที่ได้รับในปี 55 อาทิ เป็นจุดหมายปลายทางของโลก อันดับที่ 3 (จาก Master Card Global Destination Cities) รางวัลเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก 3 ปีซ้อน (ปี 53-55) (จากนิตยสาร Travel&Leisure) และเมืองที่มีค่าเงินถูกและคุ้มค่าต่อการท่องเที่ยวมากที่สุดอันดับที่ 3 (จาก Trip Advisor) ทำให้กรุงเทพยังคงได้รับความนิยมในการท่องเที่ยวต่อเนื่องแม้ว่าจะประสบปัญหาด้านการเมืองหรือเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปีก่อนๆ ก็ตาม จึงทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกรุงเทพฯ แต่ละปีเพิ่มขึ้นโดยลำดับ
2. ธปท. เผยว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ม.ค. 56 จะขยายตัวต่อเนื่อง
  • นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แถลงข่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ม.ค. 56 ในภาพรวมเติบโตจากการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัว นอกจากนี้ การท่องเที่ยวเติบโตดีต่อเนื่อง กอปรกับการส่งออกสินค้าฟื้นตัวชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวเล็กน้อย สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากเดือนก่อน อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และดุลการชำระเงินเกินดุล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้การใช้จ่ายในประเทศที่ดี และการส่งออกสินค้าที่ทยอยฟื้นตัวในเดือน ม.ค. 56 สะท้อนเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 56 ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะในภาคการลงทุนของไทยในช่วง 7 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากวิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซน ซึ่งแม้ว่าทางการยุโรปได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่มีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในหลายประเทศในปี 56 อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางและความต่อเนื่องในการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจส่งผลลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 56 ได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5-5.5 คาดการณ์ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 55)
3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวในอัตราต่ำร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า
  • กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เปิดเผยว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. 56 ขยายตัวในอัตราต่ำร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน โดยเมื่อวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดแล้วพบว่า การผลิตสินค้าหมวดชิ้นส่วนยานยนต์และชิพหน่วยความจำ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ บ่งชี้อุปสงค์นอกประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนภาคการผลิตญี่ปุ่นที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา และปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่นในเดือนแรกของปี 56 นี้ กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โดยขยายตัวร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายนอกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในยุโรป (คู่ค้าสำคัญอันดับ 3 สัดส่วนร้อยละ 8.54 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 54) ยังคงไม่ฟิ้นตัว สะท้อนจากยอดการส่งออกไปยังยุโรปซึ่งหดตัวต่อเนื่องยาวนานถึง 16 เดือน โดยล่าสุดในเดือน ม.ค. 56 หดตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้ยังคงขยายตัวได้อย่างเปราะบาง จากแรงกดดันด้านเงินฝืด ซึ่งส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายชินโสะ อาเบะ มีความพยายามที่จะหามาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณอันดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ