รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 20, 2013 11:21 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

Summary:

1. อดีตรมต. คลังเสนอให้แบงก์รัฐควรให้ ธปท. กำกับดูแล

2. ตลาดรถจักรยานยนต์ ม.ค. โตร้อยละ 20%

3. ธนาคารกลางออสเตรเลียเผยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเริ่มส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ

Highlight:

1. อดีต รมต .คลังเสนอให้แบงก์รัฐควรให้ ธปท. กำกับดูแล
  • นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ได้เสนอว่าปัญหาหนี้เสียระดับร้อยละ 40 ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังต้องส่งทีมเข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะนั้น ในระยะกลางและระยะยาวจำเป็นต้องรื้อระเบียบ แก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างมาตรฐานกำกับดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งยังควรให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีอำนาจควบคุม SFIs เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ขณะที่นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีต รมว. คลัง ก็เห็นด้วยเช่นกันว่า ธปท. ควรเข้ามากำกับดูแล SFIs เพื่อช่วยลดช่องว่างการถูกแทรกแซงทางการเมืองซึ่งเป็นที่มาของปัญหาการปล่อยกู้ให้กับโครงการที่ไม่เหมาะสมจนส่งผลให้เกิด NPLs ค่อนข้างมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน ต.ค. 55 เงินฝากมีจำนวน 3.15 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างรวมมีจำนวน 3.66 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ SFIs มีกำไรสุทธิรวมจากการดำเนินงานจำนวน 21,748 ล้านบาท และมี BIS Ratio อยู่ที่ร้อยละ 10 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับเพียงพอต่อการดำเนินงานในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPLs) พบว่ามีจำนวน 159,621 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.6 ของสินเชื่อรวม ซึ่งถือว่าฐานะทางการเงินของ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ยังอยู่ในเกณฑ์ดี
2. ตลาดรถจักรยานยนต์ ม.ค. โตร้อยละ 20
  • บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยรายงานตัวเลขจากกรมการขนส่งทางบกว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ ไทยในปีนี้เริ่มต้นอย่างคึกคัก เฉพาะเดือนม.ค. 56 ที่ผ่านมามีการจดทะเบียนมากถึง 180,253 คัน เติบโตจากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวรวมไปถึงอุปสงค์ย้อนหลังที่เกิดขึ้นจากการที่ตลาดชะลอตัวเมื่อต้นปีที่แล้ว ประกอบกับนโยบายของภาครัฐ ส่งผลให้รถจักรยานยนต์ ในทุกประเภทล้วนแต่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ม.ค. 56 ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นการขยายตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม.และภูมิภาค ที่ขยายตัวร้อยละ 18.1 และร้อยละ 20.1 ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำจากอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 รวมถึงรายได้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ของรัฐบาลที่มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
3. ธนาคารกลางออสเตรเลียเผยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเริ่มส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ
  • รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางออสเตรเลียที่ได้มีการเปิดเผยว่า การที่ธนาคารกลางออสเตรเลียได้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำที่ร้อยละ 3.0 เมื่อเดือน ก.พ. 55 ซึ่งมีการปรับลดลง รวมร้อยละ 1.75 นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 54 ซึ่งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมาจะเป็นปัจจัยสำคัญในการการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางเห็นว่า การคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินการที่รอบคอบและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศออสเตรเลียล่าสุดในไตรมาสที่ 4 ของปี 55 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ ทั้งปี 55 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางออสเตรเลีย กำหนดที่ร้อยละ 2.0 - 3.0 ส่วนหนึ่งจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 54 จากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศออสเตรเลียเป็นบวก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของออสเตรเลียได้ขยายตัว เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของออสเตรเลียพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศในระดับสูงถึงรอ้ ยละ 89.4 ของ GDP อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกเดือน ธ.ค. 55 หดตวัเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกีบเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่หดตัวเป็นสำคัญ บ่งชี้ว่าผู้บริโภคได้เพิ่มความระมัดระมัดระวังในการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 55 เศรษฐกิจออสเตรเลีย จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 และในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 55)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ