รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 14, 2013 11:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. ราคาบ้านเตรียมปรับขึ้นร้อยละ 6

2. ผู้ว่าธปท.เผยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจคิดเห็นตรงกัน ร่วมมือแก้ปัญหาค่าเงินบาท

3. สหรัฐเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมี.ค.ทรงตัว ขณะยอดขายลดลง

Highlight:

1. ราคาบ้านเตรียมปรับขึ้นร้อยละ 6
  • นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเปิดเผยว่า ปีนี้ราคาที่อยู่อาศัยแนวราบมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกร้อละ6เนื่องจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น หลังเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคขนส่ง ทำให้ไม่มีคนขับรถขนส่งสินค้า ส่งผลให้การส่งวัสดุก่อสร้างมาที่ไซต์งานล่าช้า จนต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้การขนส่งตรงเวลา นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มเสาเข็มก็ต้องจองล่วงหน้านานขึ้น เพราะคนตอกเสาเข็มมีมจำกัด ไม่พอกับการขยายตลาดของโครงการ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ราคาที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนในการก่อสร้าง ซึ่งสะท้อนได้จากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ข้อมูลล่าสุด พบว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน เม.ย.56 ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี)สะท้อนราคาวัสดุก่อสร้างยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจากความต้องการวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เกิดขึ้นหลายโครงการพร้อมๆกัน ตลอดจนปัจจัยเสริมจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าแรง 300 บาท และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้าง
2. ผู้ว่าธปท.เผยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจคิดเห็นตรงกัน ร่วมมือแก้ปัญหาค่าเงินบาท
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาท ที่มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานว่า การประชุมวันนี้ (13 พ.ค.56) เป็นการรับฟังการดำเนินการและความต้องการของภาคเอกชนที่ไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนจนเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ส่งออกของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีความคิดเห็นตรงกันว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาความผันผวนของค่าเงินบาท โดยแต่ละส่วนจะต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตรียมมาตรการดูแลค่าเงินบาทในภาพรวมไว้แล้ว และยังคงเป็นห่วงภาวะวิกฤตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การดูแลค่าเงินบาทจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังเพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะสั้นที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทในระยะยาวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งของประเทศ (Competitiveness) ทั้งนี้ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ยังมีทิศทางอ่อนค่าลงจากเดือนก่อนหน้าโดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 29.7 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่แข็งค่าที่สุดที่ระดับ 28.67 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ โดยการอ่อนค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสกุลเงินในภูมิภาค
3. สหรัฐฯ เผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน มี.ค. ทรงตัว ขณะยอดขายลดลง
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจในเดือน มี.ค.ไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ 1.270 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจยังมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ส่วนยอดขายรวมของทั้งภาคการผลิต ภาคค้าส่งและภาคค้าปลีก ในเดือนมี.ค.ลดลง 1.1% ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จำนวนมากวิตกว่าการปรับขึ้นภาษีเมื่อต้นปีนี้และความไม่แน่นอนทางการคลังของสหรัฐจะส่งผลให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจชะลอการใช้จ่ายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยยอดขายในเดือนมี.ค.ที่ลดลงก็ตอกย้ำความกังวลดังกล่าว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการตัดลดงบประมาณรายจ่าย และการปรับขึ้นภาษี (ในส่วนของบุคคลทั่วไปที่มีรายได้มากกว่า 400,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และในส่วนของครอบครัวที่มีรายได้มากกว่า 450,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี) เพื่อวัตถุประสงค์บรรเทาปัญหาหน้าผาทางการคลัง(Fiscal Cliff) ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชนดังกล่าว ตลอดจนส่งผลกระทบต่อภาคการคลัง (โดยการใช้จ่ายภาครัฐเดือน เม.ย. ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -2.1) ดังนั้น เพื่อชดเชยข้อจำกัดของเครื่องมือทางการคลัง สหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องอาศัยเครื่องมือทางการเงินเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะคงอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นต่อไปที่ร้อยละ 0-0.25 รวมไปมาตรการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้จดจำนอง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดจำนวนผู้ว่างงานให้ต่ำกว่าร้อยละ 6.5 ต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ