รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 15, 2013 11:36 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. รมว.เกษตรฯ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสต็อกยาง ตั้งเป้าแก้ปัญหาราคา

2. ธนาคารกรุงเทพ ชี้ 3 จุดเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย

3. ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สวนทางภูมิภาค

Highlight:

1. รมว.เกษตรฯ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสต็อกยาง ตั้งเป้าแก้ปัญหาราคา
  • รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แม้ว่าไทยจะส่งออกยางพาราเป็นปริมาณสูงถึง 3.2 ล้านตันในปีที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณามูลค่ากลับลดลงกว่าปกติ และราคายางปัจจุบันยังไม่มีทิศทางที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับราคาน้ำมัน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องมาร่วมกันพิจารณาถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น โดยจากการประเมินเบื้องต้นน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าหลักที่มีการฟื้นตัวช้าหรือยังทรงตัวอยู่ จึงยังคงทำให้มีปริมาณสต็อกยางเก่าค้างอยู่ ขณะที่ในส่วนของสต็อกภายในประเทศที่ยังไม่ทราบถึงปริมาณที่ได้ชัดก็ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อตรวจสอบปริมาณยางในสต็อกโดยเร่งด่วนแล้วรวมถึงมาตรการในการระบายสต็อกยางจะเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 ปริมาณการส่งออกยางพาราอยู่ที่ 1.35 ล้านตัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.7 อย่างไรก็ดีมูลค่าการส่งออกยางพารากลับหดตัวถึงร้อยละ -11.0 เนื่องจากราคายางพารายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีตลาดหลักคือ ประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ราคายางพาราลดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ประกอบกับสต็อกเก่าที่ยังค้างอยู่ในแต่ละประเทศ (โดยเฉพาะจีน) ที่มีการเร่งนำเข้าตั้งแต่ปี 54 ที่ผ่านมา จึงเป็นแรงกดดันต่อราคายางพาราในปัจจุบัน โดยแนวทางแก้ปัญหาอาจทำได้โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างตลาดใหม่ในอนาคต
2. ธนาคารกรุงเทพชี้ 3 จุดเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย
  • ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวสัมมนาเรื่อง "มุมมองอนาคต ความเสี่ยง โอกาสเศรษฐกิจไทย" ที่จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่าปัจจัยเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ 1. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศที่ในช่วง 5 เดือนแรก ไทยขาดดุลมากกว่า 3,145 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 81.9 และ 3. โครงสร้างประชากรของไทยที่จะมีคนสูงอายุเกิน 65 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในระยะสั้น ได้แก่ 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย และ 2. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ ส่วนหนึ่งเป็นมาจากการขยายตัวในอัตราเร่งผิดปกติในปี 55 ที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังประสบปัญหาอุทกภัยในช่วยปลายปี 54 ในขณะที่ระยะปานกลาง - ระยะยาว ได้แก่การที่ไทยได้เข้าสู่โครงสร้างประชากรที่สูงอายุ อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าว อาทิการกระจายตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกันของนโยบายการเงินและการคลัง รวมถึงมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการชราภาพ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีการออมเงินไว้ในยามชรา และเพื่อลดภาระงบประมาณการดูแลคนสูงอายุในอนาคตด้วย
3. ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สวนทางภูมิภาค
  • หลังการประชุมเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินโดนีเซียตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50 basis points จากร้อยละ 6.0ในเดือนที่แล้วมาอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งที่สองติดต่อกันและมีความเป็นไปได้ที่ทางธนาคารกลางจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอีกสาเหตุหลักของการปรับขึ้นครั้งนี้มาจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจากการที่รัฐบาลลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศเป็นเหตุให้ราคาสินค้าโดยเฉพาะหมวดอาหารปรับขึ้น นอกจากนี้ การปรับขึ้นดังกล่าวยังเป็นไปเพื่อบรรเทาการไหลออกของเงินทุนอย่างรวดเร็วจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะหยุดมาตรการ QE การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินโดนีเซียถือว่าสวนทางกับภูมิภาคที่ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และประเทศไทย จากแรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากต้องควบคุมเงินเฟ้อและเงินทุนไหลออกในช่วงที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวตามเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะการชะลอตัวของจีน การจัดการเศรษฐกิจให้เติบโตในระดับที่น่าพอใจได้ในช่วงเวลานี้นอกจากจะมีข้อจำกัดทางด้านการผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้ว การใช้นโยบายการคลังก็มีข้อจำกัดเพราะจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง ในด้านอุปสงค์ภาคเอกชนก็เสี่ยงที่จะมีการชะลอตัวจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น เศรษฐกิจอินโดนีเซียจึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดทั้งสภาพเศรษฐกิจและนโยบายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สศค.ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวในปี 2556 ของเศรษฐกิจอินโดนีเซียซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับสองในอาเซียนของไทยลงจากร้อยละ 6.6 เป็นร้อยละ 6.3 ต่อปี สอดคล้องกับที่ทางการอินโดนีเซียปรับลดประมาณการของตนเองลงจากช่วงร้อยละ 6.2 - 6.6 ลงเหลือร้อยละ 5.8 - 6.2

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ