รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 25, 2013 11:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. ยอดขอส่งเสริมลงทุนครึ่งปีแรก 56 เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ต่อปี คาดทั้งปี เป็นไปตามเป้าที่ 1 ล้านลบ.

2. กรุงเทพโพลล์ เผย นักเศรษฐศาสตร์ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะอ่อนแอ

3. ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนต่ำสุดในรอบ 11 เดือน

Highlight:

1. ยอดขอส่งเสริมลงทุนครึ่งปีแรก 56 เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ต่อปี คาดทั้งปี เป็นไปตามเป้าที่ 1 ล้านลบ.
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาวะการลงทุนภาคอุตสาหกรรมช่วงครึ่งปีแรกตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง มิ.ย. 56 มีมูลค่าลงทุนจำนวน 632,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ต่อปี โดยมีโครงการลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 1,055 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 โดยกิจการที่ได้รับความสนใจการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การลงทุนในกลุ่มบริการ และสาธารณูปโภค ทั้งนี้ คาดว่าการลงทุนปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าครึ่งปีหลังอุตสาหกรรมที่จะมีการลงทุนอย่างมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรโดยเฉพาะกิจการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงกิจการขนส่งทางอากาศที่ขยายการลงทุนเพื่อเป็นการรองรับธุรกิจด้านการท่องเที่ยว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นสูงมากจากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องจาก พื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลของ UNCTAD ที่กล่าวว่า ทิศทางของ FDI Flows ของโลกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะภูมิภาคแอฟริกา กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและอาเซียน จะมีบทบาทเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากประเทศกำลังพัฒนานั้นได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยในปี 55 เป็นปีแรกที่ FDI Inflows ในประเทศกำลังพัฒนามีสัดส่วนมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 52.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.5 ในปี 54 ของโลก โดย UNCTAD ยังคาดการณ์ FDI รวมในปี 56 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 55 ที่ระดับ 1.35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นในปี 57 และ 58 เป็น 1.6 และ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ ประเทศที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยมากที่สุด ในช่วงครึ่งปีแรก 56 ได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรป และไต้หวัน
2. กรุงเทพโพลล์ เผย นักเศรษฐศาสตร์ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะอ่อนแอ
  • กรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 32 แห่ง จำนวน 62 คน เรื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า" โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15-24 ก.ค.56 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 34.40 จุด ลดลงร้อยละ 39.3 จากเดือนก่อนหน้า และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ในรอบ 1 ปี 6 เดือน โดยเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การส่งออกสินค้า และการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ตามลำดับ ส่วนปัจจัยการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยเดียวที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่นว่ายังคงอยู่ในสถานะแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องนับจากเม.ย.55
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนของไตรมาสที่ 2 ปี 56 บ่งชี้เศรษฐกิจไทย มีสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 สะท้อนได้จากการยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในในไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ -0.2 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ต่อปี ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 11.0 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 35.2 ต่อปี ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 19.4 ต่อปี อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังปี 56 เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงจาก 1) เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจจีนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ การส่งออกของไทยโดยตรง 2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยปัจจุบันอยู่ที่บาร์เรลละ 105.1 จาก 100.35 ในช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 - 5.0)
3. ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนต่ำสุดในรอบ 11 เดือน
  • HSBC Holdings รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือน ก.ค. 56 ของจีน อยู่ที่ระดับ 47.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน สะท้อนถึงภาวะชะลอตัวของภาคการผลิต อันเนื่องมาจากคำสั่งซื้อใหม่ที่อ่อนแรงลง และตอกย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านการขยายตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวลดลงสะท้อนถึงภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนที่มีสัญญาณชะลอตัวลงจากผลของการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐฯ ฮ่องกง และยูโรโซนเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 56 ที่ชะลอตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการก็มีสัญญาณการหดตัวเช่นเดียวกัน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการที่จัดทำโดย HSBC ในเดือน มิ.ย. 56 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด นอกจากนี้ ภาคการส่งออกก็มีทิศทางที่ชะลอตัวเช่นเดียวกัน โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน มิ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 17 เดือน ทำให้ครึ่งปีแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 13.5 ทั้งนี้ ภาคการส่งออกที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อนได้ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 56 มีสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 โดยขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 ทำให้ครึ่งปีแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.6 อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนได้ประกาศดำเนินนโยบายแผนปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาของภาคส่งออก และสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 7.9 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ