รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 21, 2013 10:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2556

Summary:

1. ยอดขายรถยนต์เดือนก.ค.56 หดตัวร้อยละ -25.4 ต่อปี

2. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่า GDP ไตรมาสที่ 3/56 เทียบกับไตรมาสที่ 2/56 ยังคงขยายตัว

3. จีนส่งสัญญาณปล่อยดอกเบี้ยเสรี

Highlight:

1. ยอดขายรถยนต์เดือนก.ค.56 หดตัวร้อยละ -25.4 ต่อปี
  • บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์เดือนก.ค.56 ว่า ปริมาณการขายรถยนต์ทั้งระบบมีจำนวนทั้งสิ้น 98,251 คัน หดตัวร้อยละ -25.4 ต่อปี สะท้อนถึงสภาพตลาดในครึ่งปีหลังที่กำลังปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ หลังจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีปริมาณการขาย 47,484 คัน หดตัวร้อยละ -26.3 ต่อปี ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีปริมาณการขาย 50,767 คัน หดตัวร้อยละ -24.6 ต่อปี รวมถึงรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนต์นี้ จำนวน 41,469 คัน หดตัวร้อยละ -29.6 ต่อปี ทั้งนี้ ได้คาดยอดขายรถยนต์ทั้งระบบปี 59 ที่ 1.3 ล้านคัน หดตัวร้อยละ -9.5 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในเดือน ก.ค. 56 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ที่มียอดต่ำกว่าหนึ่งแสนคัน โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 25.4 ส่งผลทำให้ 7 เดือนแรกปี 56 ขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี แผ่วลงจากช่วงปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลการผลิตในเดือนก.ค. 56 ที่มีการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 201,446 คัน หดตัวร้อยละ -6.5 ต่อปี สำหรับ การคาดการณ์การผลิตรถยนต์ ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค. - ต.ค.56) สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทยได้ประมาณการการผลิตรถยนต์ ว่าจะมีจำนวน 618,619 คัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่จำนวน 80,536 คัน หรือหดตัวร้อยละ -11.5 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจาก ปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์กำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกที่ได้ทยอยหมดลง กระทบต่อการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าคงทนประเภทยานยนต์ทำให้ชะลอตัวลงมาก ทั้งนี้สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.56 ว่าการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.1 - 4.1)
2. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่า GDP ไตรมาสที่ 3/56 เทียบกับไตรมาสที่ 2/56 ยังคงขยายตัว
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3/56 น่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/56 แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มการชะลอตัวตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะยังไปได้ตามที่ประมาณการไว้ แม้จะไม่ได้ขยายตัวสูงมากนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสที่แล้ว ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอลง และอุปสงค์ต่างประเทศยังไม่ฟื้น อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาผลประทบจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในช่งครึ่งหลังของปี 56 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 56 เห็นชอบในหลักการและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ (1) มาตรการด้านการบริโภคภาคเอกชน เช่น มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดสัมมนาในประเทศ (2) มาตรการด้านการลงทุนภาคเอกชน เช่นมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดย่อม รายเล็ก และรายย่อย (3) มาตรการด้านการใช้จ่ายภาครัฐ เช่นมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย ในปีงบประมาณ 56 ทั้งงบพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดการเบิกจ่ายขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (อปท.) และการเบิกจ่ายของกองทุนนอกงบประมาณ และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 57และ (4) มาตรการด้านการส่งออก โดยการเร่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) เป็นต้น ทั้งนี้ สศค. จะมีการปรับสมมุตฐานและประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในเดือน ก.ย.56
3. จีนส่งสัญญาณปล่อยดอกเบี้ยเสรี
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่า เศรษฐกิจจีนจะไม่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางพร้อมที่จะปล่อยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเคลื่อนไหวอย่างเสรี เพื่อที่จะเปิดเสรีตลาดการเงินอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบรอบคอบและดำเนินการปรับโครงสร้างให้เหมาะสมหากมีความจำเป็น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวชะลอลงสะท้อนจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 ทำให้ทางการจีนมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (1 year deposit) อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.00 และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (1 year lending) อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.00 ติดต่อกัน อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจจีนมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากการค้าต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. 56 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.3 จากการส่งออกไปในหลายประเทศที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสหรัฐฯ และฮ่องกง ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่ต้นปี 56 ซึ่งอาจส่งสัญญาณว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคการผลิตที่ค่อนข้างมากในช่วงต้นปี และการก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อยอดขายที่ค่อนข้างสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 56 ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.9 (คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ