รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 17, 2013 11:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2556

Summary:

1. กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50

2. ก. แรงงาน เผยอัตราว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ภาพรวมจ้างงานปกติ

3. ผู้ว่าธนาคารกลางอินเดียคาดเศรษฐกิจฟื้นปลายปี

Highlight:

1. กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ 7/56 วันที่ 16 ต.ค. 56 ไว้ที่ร้อยละ 2.50 ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวช้ากว่าที่คาด แต่เริ่มทรงตัวและเห็นสัญญาณปรับดีขึ้นในบางภาค โดยการส่งออกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว และในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ภายใต้ภาวะการเงินในปัจจุบันที่ยังผ่อนปรน แต่ยังคงมีความเสี่ยงสำคัญจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความล่าช้าในการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. มีเหตุผลสำคัญจากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวร้อยละ -0.3 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 56 เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ส.ค. 56 ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่เครื่องชี้ด้านการบริโภคภาคเอกชนก็มีสัญญาณดีขี้นเช่นเดียวกัน สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ส.ค. 56 ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 4 เดือน ที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 2.4. เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ นโยบายการคลังก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเม้ว่าจะมีความล่าช้าออกไปบ้าง ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันถือว่ามีความเหมาะสมต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน และแม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางค่อยๆ ปรับดีขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.7 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.5-4.0) (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56)
2. ก. แรงงาน เผยอัตราว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ภาพรวมจ้างงานปกติ
  • กระทรวงแรงงาน เผยการเตือนภัยด้านแรงงานเดือนสิงหาคม 2556 ภาวะการจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และการเลิกจ้างยังไม่น่าเป็นห่วง คาดแนวโน้มการจ้างงานในภาพรวมของตลาดแรงงานอีก 12 เดือนข้างหน้าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2557 จะอยู่ในภาวะปกติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การจ้างงานของประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่ดี สะท้อนได้จากจำนวนการจ้างงานเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ 38.95 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 5.96 แสนคน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 มีผู้มีงานทำอยู่ที่ 38.84 ล้านคน โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมเดือน ส.ค.56 อยู่ที่ 16.25 ล้านคนลดลง 2.17 แสนคน หรือหดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.56 อยู่ที่ 7.90 ล้านคน ลดลง 2.7 แสนคน หรือหดตัวร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การจ้างงานภาคบริการเดือน ส.ค.56 อยู่ที่ 14.82 ล้านคน ลดลง 8.1 หมื่นคน หรือหดตัวที่ร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน เป็นผู้ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.41 แสนคน และเป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 1.76 แสนคน
3. ผู้ว่าธนาคารกลางอินเดียคาดเศรษฐกิจฟื้นปลายปี
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย กล่าวในการประชุมวิชาการ ณ สถาบันธุรกิจฮาร์วาร์ด ในเคมบริดจ์ รัฐแมตซาชูเซตส์ว่า เศรษฐกิจของอินเดียจะเติบโตขึ้นในไตรมาสสี่ หลังคณะกรรมการให้ไฟเขียวเดินหน้าโครงการด้านทรัพยากร ที่เคยถูกชะลอไว้ในช่วงที่รัฐบาลทบทวนเรื่องนโยบายความโปร่งใสและสภาพแวดล้อม โดยครึ่งหนึ่งของโครงการมูลค่า 1.15 แสนล้านดอลลาร์ได้รับการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจอินเดียในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.4 ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 สะท้อนได้จากข้อมูลล่าสุดใน เดือน ก.ย. 56 พบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของอินเดีย อยู่ที่ระดับ 49.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.5 จุด จากผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่หดตัวชะลอลงในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 13.0 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.6 สะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของอินเดียมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการที่ภาครัฐมีโครงการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 และร้อยละ 6.3 ในปี 57 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ