รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 4 - 11 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 17, 2013 14:06 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เดือน ก.ย.56 หดตัวร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ยังคงขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1.8

  • อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 56 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 56 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.36 ล้านล้านบาท
  • สหรัฐฯ ไม่มีการประกาศตัวเลขเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจจากหน่วยงานภาครัฐในสัปดาห์นี้ (7-11 ต.ค. 56)

เนื่องจากกฎหมายงบประมาณ ปี 57 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา ส่งผลให้สหรัฐฯ ยังต้องประสบกับภาวะ

Government shutdown

  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการจีน จัดทำโดย HSBC เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 52.4 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 44.6 จุด
  • วันที่ 4 ต.ค. 56 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ต.ค. 56 ไว้ที่ร้อยละ 7.25 ต่อปี

ขณะที่วันที่ 10 ต.ค. 56 ธนาคารกลางเกาหลีประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี

  • ยอดค้าปลีกอินโดนีเซีย เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
Indicators next week
 Indicators                               Forecast           Previous
 Sep : TISI (Index)                         91.0               91.3

จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบางและอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ผู้ประกอบการมองการบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ย.56 หดตัวร้อยละ -4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.1 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าว ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง สอดคล้องกับผลผลิตกุ้ง ที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพารา ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี (แม้ว่าจะชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยางมากนัก) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 1.8 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตไก่เนื้อเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 56 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อยร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน ก.ย. 56 ยังคงขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.7 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ เนื่องจากยังคงมีอุปสงค์เข้ามาอย่างเนื่อง สอดคล้องราคาในหมวดประมงที่ยังขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลผลิตกุ้ง เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากโรคระบาด นอกจากนี้ราคายางพาราหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -3.7 จากเดือนก่อนหน้าหดตัวร้อยละ -10.0 ส่วนหนึ่งเป็นมาจากฝนตกชุกหนาแน่นในพื้นที่กรีดยาง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ทำให้ผลผลิตปรับลดลง ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 56 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การจ้างงานเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ 38.95 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 6.0 แสนคน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 มีผู้มีงานทำอยู่ที่ 38.84 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งภาคภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 56 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 56 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.36 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งจากการที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการขยายตัวของเงินฝาก โดยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขณะที่เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ ควรจับตามองสถานการณ์ความไม่แน่นอนของของเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลภาพรวมของสภาพคล่องได้ในระยะต่อไป
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 90.0 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 91.9 และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 21 เดือน จากความกังวลของผู้ประกอบการเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนไหวและอาจจะมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกประเทศ เช่น การส่งออก เป็นต้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • ไม่มีการประกาศตัวเลขเครื่องมือชี้วัดเศรษฐกิจจากหน่วยงานภาครัฐในสัปดาห์นี้ (7-11 ต.ค. 56) เนื่องจากกฎหมายงบประมาณ ปี 57 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา ส่งผลให้สหรัฐฯ ยังต้องประสบกับภาวะ Government shutdown ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 56 เป็นต้นมาต่อเนื่องจนถึงวันนี้ (สถานการณ์ ณ วันที่ 11 ต.ค. 56)
China: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ จัดทำโดย HSBC เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 52.4 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.8 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตที่ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย
Taiwan: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 56 หดตัวร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลักคือ จีนและสหรัฐฯ ที่หดตัวลงเป็นสำคัญ ประกอบกับการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่บริษัทไต้หวัน เช่น HTC และ Acer เสียส่วนแบ่งการตลาดให้แก่ ผู้ผลิตจากจีนซึ่งเริ่มครองส่วนแบ่งการตลาดสินค้าคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท๊ปเล็ต และญี่ปุ่นซึ่งได้รับประโยชน์จากค่าเงินเยนที่อ่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 56 หดตัวร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 56 เกินดุล 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารสินค้าหมวดอาหารที่เร่งขึ้นมากกว่าปกติ
South Korea: mixed signal
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ต.ค. 56 ไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
India: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 44.6 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 4 ปี สะท้อนสภาพการประกอบธุรกิจด้านการบริการที่ประสบปัญหาซบเซาต่อเนื่อง จากคำสั่งซื้อใหม่ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ประกอบกับการเริ่มธุรกิจใหม่ในทุกประเภทธุรกิจบริการหดตัวในอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 52 อีกทั้งการจ้างงานลดลง
Australia: improving economic trend
  • อัตราว่างงาน เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม จากอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่ลดลงและตำแหน่งงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
Indonesia: worsening economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ15.2 และเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 54 ทั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคประหยัดมากขึ้น สะท้อนจากยอดค้าปลีกสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่หดตัวร้อยละ -4.9 และ -0.2 ตามลำดับ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 107.1 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 107.8 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 55 เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลต่อค่าแรง และการมีงานทำในอนาคต นอกจากนี้ ในวันที่ 4 ต.ค. 56 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ต.ค. 56 ไว้ที่ร้อยละ 7.25 ต่อปี ซึ่งเป็นการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกหลังจากประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือนจากร้อยละ 5.75 ต่อปี ในเดือน พ.ค. 56 เป็นร้อยละ 7.25 ต่อปีในเดือน ก.ย. 56 หรือปรับขึ้นรวม 150 bps ซึ่งการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ อาจเป็นผลจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ย. 56 ที่ร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลงจากเดือน ส.ค. 56 ที่ร้อยละ 8.8 สวนทางกับที่คาดการณ์ไว้ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ย. 56 สูงถึงร้อยละ 9.0
Malaysia: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกไปยังสิงคโปร์และจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 1 และ 2 ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 13.8 และ 21.3 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 ผลจากการนำเข้าสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวมากถึง 2 เท่า โดยเป็นผลทั้งจากปัจจัยฐานต่ำในปี 55 และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ส.ค. 56 เกินดุล 7.1 พันล้านริงกิต ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้าสูงที่สุดในรอบ 6 เดือน ในส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 7.5 ทั้งนี้ เป็นผลจากการผลิตในภาคเหมืองแร่ที่หดตัวร้อยละ -4.6
Philippines: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 20.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างมากที่ร้อยละ 67.0 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่วนอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.1 ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.6 เป็นสำคัญอย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวยังอยู่ภายใต้ระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ทางการฟิลิปปินส์กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3-5
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 10 ต.ค. 56 ปิดที่ 1,451.91 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพียง 37,621 ล้านบาท โดยนักลงทุนยังคงจับตาประเด็นที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องปิดหน่วยงานรัฐบางส่วน (Partial government shutdown) ภายหลังจากที่ ไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณประจำปีงบประมาณ 57 ได้ทัน ตลอดจนประเด็นการปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจทำให้ Fed ตัดสินใจชะลอการลด ขนาดมาตรการ QE โดยระหว่างวันที่ 7 - 10 ต.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -252.94 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้นเล็กน้อย 1-5 bps ตามทิศทางของ US Treasury ภายหลังความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้น ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 7 - 10 ต.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 3,670.7 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 10 ต.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.42 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักและสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ อาทิ เยน ยูโร และวอนเกาหลี อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในอัตราที่มากกว่า ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -0.17 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำลดลง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 10 ต.ค. 56 ปิดที่ 1,285.57 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,321.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ