รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 26, 2013 11:33 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2556

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์เผยส่งออกเดือน พ.ย. 56 หดตัวร้อยละ 4.08

2. ครม.มีมติขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลอีก 1 เดือน หลัง กกต.เห็นชอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

3. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณบวก ยอดขายบ้านใหม่แข็งแกร่ง

Highlight:

1. กระทรวงพาณิชย์เผยส่งออกเดือน พ.ย. 56 หดตัวร้อยละ 4.08
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พ.ย. 56 การส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 18,757 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.08% การนำเข้ามีมูลค่า 19,314.2 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 8.6 ส่งผลให้เดือน พ.ย.ขาดดุลการค้า 557 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การส่งออกและนำเข้าในรอบ 11 เดือน ( ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 210,090.1 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 4.49 และนำเข้ามีมูลค่า 231,997.9 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.22 โดยขาดดุลการค้ามูลค่า 21,097.8 ล้านดอลลาร์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดการส่งออกในเดือน พ.ย.56 ยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน พ.ย. 56 มีมูลค่า 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ - 4.1 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะส่งสัญญาณการฟื้นตัวแล้วแต่ยังส่งผลกระทบไม่ถึงไทยในขณะนี้ รวมถึงปัจจัยฐานการส่งออกที่สูงของช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกของไทยในเดือน พ.ย. 56 หดตัว การส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมสำคัญ ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 63.8 ของการส่งออกรวม ลดลงร้อยละ 5.2 โดยสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ -5.3 วัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ -44.2 อัญมณีและเครื่องประดับลดลงร้อยละ -22.9 หมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 2.5 โดยสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ลดลงร้อยละ -25.7,6.2 และ 25.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 3.3 เป็นสำคัญ ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน พ.ย. 56 มีมูลค่าอยู่ที่ 19.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -8.6 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือน พ.ย. 56 ขาดดุลอยู่ที่ -0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. ครม.มีมติขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลอีก 1 เดือน หลัง กกต.เห็นชอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลออกไปอีก 1 เดือน ไปสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 57 หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบตามคำขอของรัฐบาล เพื่อเป็นการบรรเทาและแบ่งเบาภาระของประชาชน กกต.จึงเห็นว่า ข้อเสนอของกระทรวงการคลังเป็นนโยบายต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ที่ต้องขออนุมัติทุก 1 เดือน และหากไม่ดำเนินการต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้นกว่า 10 บาท ประกอบกับน้ำมันดีเซลเป็นปัจจัยที่สำคัญของการผลิตทุกภาค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ครม.มีมติขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลอีก 1 เดือน เพื่อรักษาความเสถียรภาพในประเทศ โดยอัตราส่วนของพลังงานในอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 11.4 โดย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ ค่าที่พักอาศัย และค่าเช่ามีการปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และในหมวดพลังงานในช่วง 11 เดือนแรกปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 และ 4.95 หากมีการเพิ่มราคาน้ำมันดีเซลขึ้นกว่า 10 บาท จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป
3. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณบวก ยอดขายบ้านใหม่แข็งแกร่ง
  • กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านใหม่ในเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ 464,000 ยูนิต ขยายตัวร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 474,000 ยูนิต โดยถือว่ายังสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์และอยู่ใกล้กับระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ราคากลางของบ้านใหม่ในเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ 270,900 ดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 56 ที่ร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายบ้านใหม่ในช่วงเดือน ต.ค. - พ.ย. 56 ของสหรัฐฯ ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 51 ที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) และยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ_SA) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.6 นอกจากนี้ ข้อมูลอัตราการว่างงานในเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 7.0 ของกำลังแรงงานรวม จากผลของการจ้างงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่เพิ่มขึ้น สำหรับภาคการผลิตพบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นเช่นเดียวกัน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 56 อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 31 เดือนที่ 57.3 จุด ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการอยู่ที่ 53.9 จุด บ่งชี้สัญญาณการขยายตัวต่อเนื่องของภาคอุปทาน ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวดีขึ้นและอัตราการว่างงานที่ลดลงทำให้เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 56 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (Quantitative Easing : QE) ลง 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เหลือ 75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน โดยมีกำหนดเริ่มต้นในเดือน ม.ค. 57 สศค. ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 56 และ ปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 และ 2.4 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ