รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 21 มีนาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 21, 2014 11:45 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.พ. 57 ได้จำนวน 147.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • วันที่ 12 มี.ค. 57 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -1.7
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -8.15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 45.8 ของ GDP
  • GDP สหภาพยุโรป ไตรมาส 4 ปี 56 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 4 ปี 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ออสเตรเลีย ไตรมาส 4 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 57 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดขนาดมาตรการ QE ลงเดือนละ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเดือนละ 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Indicator next week

Indicators                               Forecast           Previous
Feb :  MPI (% YoY)                         -6.0               -6.4

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่สงบภายในประเทศที่มีการชุมนุมที่ยืดเยื้อมากกว่าที่คาด และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมให้ชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งกระทบต่อเนื่องถึงกำลังซื้อภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะชะลอการผลิต ประกอบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการรถยนต์คันแรกได้สิ้นสุดลง

Economic Indicators: This Week

  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.พ. 57 ได้จำนวน 147.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 6.8 พันล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการปรับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นที่เพิ่มขึ้น ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าที่ชะลอลง และ (3) ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -37.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการส่งมอบรถในโครงการรถยนต์คันแรกได้เกือบครบทั้งโครงการแล้วในปีงบประมาณ 2556 ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ(หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี งปม. 57 (ต.ค. 56-ก.พ. 57) ได้จำนวน 802.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. -4.7 พันล้านบาท หรือร้อยละ -0.6
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนก.พ. 57 มีมูลค่า 53.3 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -8.1 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.5 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 2.2 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนแรกปี 57 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -4.6 จากเดือนก่อนหน้า) ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานในการคำนวณสูงเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นมากไปแล้วในปี 56 จากความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนแรกปี 57 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวม หดตัวที่ร้อยละ -4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ระดับ 59.7 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 61.4 ซึ่งเป็นการปรับลดลงในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี โดยมีสาเหตุสำคัญ ได้แก่ 1. ความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูง เนื่องจากจะกระทบต่อการใช้นโยบายต่างๆของรัฐบาล และ 2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวให้ลดลง
  • วันที่ 12 มี.ค. 57 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี จากการที่ กนง. ประเมินว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมีมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังยืดเยื้อ เงินเฟ้อพื้นฐานแม้ปรับขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้บ้าง เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนให้กับเศรษฐกิจ และเอื้อให้ภาวะการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้ง ในขณะที่ผลผลิตยางพารา ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกรและไก่เนื้อ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกปี 57 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือนก.พ. 57 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ตามราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการเพิ่มสต็อคของประเทศจีนและญี่ปุ่นในช่วงกลางปี 56 ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ตามอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตหลักอย่างเวียดนามและอินเดีย อย่างไรก็ดี ราคาผลผลิตกุ้งยังขยายตัวในอัตราเร่ง เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกปี 57 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน หดตัวร้อยละ -8.15 เมื่อเทียบกับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 27 เดือนนับจากสถานการณ์อุทกภัย เมื่อเดือน พ.ย. 54 ส่วนหนึ่งจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเขต กทม. ที่ทำให้ 50 ประเทศ แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวที่หดตัวลงมาก ได้แก่ จีน มาเลเซียและญี่ปุ่น ที่หดตัวร้อยละ -29.8 -16.6 และ -27.7 เมื่อเทียบกับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) หดตัวร้อยละ -1.6 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มชะลอตัวในปี 57 นอกจากนี้ ความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดลดลงสะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อลดลง ประกอบกับภาพรวมการเปิดขายโครงการใหม่ลดลง เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ พื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน ม.ค. 57 ก็หดตัวที่ร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,466.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 16.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.8 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสุทธิ 11.3 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ จากการออกพันธบัตรเพื่อไปคืนเงินทดรองจ่ายที่ยืมจากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (Premium FIDF1 และ FIDF3) จำนวน 10.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 98.2 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.1 ของยอดหนี้สาธารณะ)
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่สงบภายในประเทศที่มีการชุมนุมที่ยืดเยื้อมากกว่าที่คาดและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมให้ชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งกระทบต่อเนื่องถึงกำลังซื้อภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะชะลอการผลิต ประกอบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการรถยนต์คันแรกได้สิ้นสุดลง

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากราคาสินค้าหมวดเสื้อผ้าและขนส่งที่ลดลง เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 57 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดขนาดมาตรการ QE ลงเดือนละ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเดือนละ 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปี 58 จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี
China: worsening economic trend
  • ราคาบ้าน เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 9.6 เป็นการชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยราคาบ้าน 69 เมือง ใน 70 เมืองปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาบ้านในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น และปักกิ่งเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 15.7 15.7 15.6 และ 12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่งสัญญาณการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ตามนโยบายของทางการจีน
Japan: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า(ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้ทั้งปี 56 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.5 โดยเป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 55.5 จุด ซึ่งเกินกว่าระดับ 50 จุดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 56 สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตในญี่ปุ่นที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกเดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ และประเทศในเอเชียซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.พ. 57 ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงและพลังงาน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์เป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเดียวกันขาดดุลมูลค่า 8 แสนล้านเยน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Eurozone: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 56 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้ทั้งปี 56 เศรษฐกิจยูโรโซนหดตัวชะลอลงจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -0.4 จากภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 57 ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เพิ่มความกังวลว่ายูโรโซนอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าในหมวดวัตถุดิบ และพลังงานที่ลดลง ในขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -3.2 จากการนำเข้าสินค้าในเกือมทุกหมวดสินค้าที่ลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ม.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) เกินดุลที่ 0.9 พันล้านยูโร ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 13.8 พันล้านยูโร
Singapore: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ผลจากการส่งออกไปจีนและมาเลเซียที่ขยายตัวร้อยละ 28.6 และ 10.5 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.9 จากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ก.พ. 57 เกินดุล 4.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Australia: worsening economic trend
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ผลจากการบริดภคภาคเอกชนและภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อย ส่งผลให้ GDP ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากร้อยละ 3.6 ในปี 55 จากการบริโภคภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนที่ซบเซาลงเป็นสำคัญ
Hong Kong: mixed signal
  • อัตราว่างงาน เดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.6 และถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดที่พักอาศัย สาธารณูปโภค และการเดินทางที่ขยายตัวชะลอลง และสินค้าหมวดอาหารที่หดตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ
India: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -17.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน การส่งออกที่ลดลงทำให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 57 ขาดดุล 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยที่สุดในรอบ 5 เดือน อัตราเงินเฟ้อ เดือนก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เป็นผลส่วนหนึ่งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางอินเดียเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อถึง 2 ครั้งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ จากร้อยละ 7.50 เป็น 7.75 ในเดือน ต.ค. 56 และเป็น 8.00 ในเดือน ม.ค. 57
Taiwan: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวร้อยละ -5.3 ในเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปจีนและฮ่องกงซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 1 และ 2 ที่กลับมาขยายตัวสูงอีกครั้ง ถึงร้อยละ 36.0 และ 14.6 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวร้อยละ -15.2 ในเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าไขมันสัตว์ น้ำมันพืช อาหารและเนื้อสัตว์ที่กลับมาขยายตัวในอัตราสูงอีกครั้ง แม้การส่งออกจะเร่งขึ้นมากกว่าการนำเข้า แต่ดุลการค้า เดือน ก.พ. 57 เกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากการเกินดุล 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนก่อนหน้า
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงเล็กน้อยต่อเนื่อง แต่ยังคงสูงกว่า 1,300 จุด หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดขนาดมาตรการ QE ตามคาด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 20 มี.ค. 57 ปิดที่ 1,361.47 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 37,1345 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนรายย่อยในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 20 มี.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 395.50 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 3 ปีปรับตัวลดลง 1-3 bps ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะปานกลางและยาวปรับตัวสูงขึ้น โดยนักลงทุนให้ความสนใจประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่น Benchmark อายุ 10 ปี ที่มีการประมูลในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระหว่างวันที่ 17 - 20 มี.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ -3,953.2 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 20 มี.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.34 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า และอ่อนค่าลงร้อยละ -5.42 เมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยปี 56 โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินเยน ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.34 จากปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 20 มี.ค. 57 ปิดที่ 1,327.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงเล็กน้อยจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,366.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ