รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 - 11 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 11, 2014 11:57 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week

  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 57 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.32 ล้านล้านบาท
  • อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 57 เพิ่มขึ้น 192,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า
  • มูลค่าการส่งออกไต้หวัน เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกอินโดนีเซีย เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 24.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของมาเลเซีย เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกฟิลิปปินส์ เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยoละ 24.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราว่างงานเกาหลีใต้ เดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม

Indicator next week

Indicators                          Forecast           Previous
Mar :  TISI (Index)                   85.5               85.7

จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองที่มีการชุมนุมในหลายพื้นที่ ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงเนื่องจากผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้ประกอบการให้ลดลงต่อเนื่อง

Economic Indicators: This Week

  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 57 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.32 ล้านล้านบาท โดยทั้งเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.3 และร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ตามลำดับ ทั้งนี้ ควรติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อ ซึ่งจะส่งผ่านมายังความเข้มข้นในการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไป
  • การจ้างงานเดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ 37.74 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7 แสนคน ส่งผลให้ 2 เดือนของปี 57 มีผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.77 ล้านคน ลดลดจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.78 หมืนคน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ 1.8 โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมที่ลดลงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมในช่วง 2 เดือนแรกยังคงขยายตัวได้ดีทั้งการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.31 แสนคน
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดลดลงสะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อลดลง ประกอบกับภาพรวมการเปิดขายโครงการใหม่ลดลง เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ พื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน ก.พ. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) ก็หดตัวที่ร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: Next Week

  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 85.5 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 85.7 จากความกังวลเกียวกับปัญหาทางการเมืองที่มีการชุมนุมในหลายพื้นที่ ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงเนื่องจากผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้ประกอบการให้ลดลงต่อเนื่อง

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มี.ค. 57 เพิ่มขึ้น 192,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า ผลจากการจ้างงานในภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคบริการหมวดการค้าและขนส่ง หมวดธุรกิจ หมวดการศึกษาและสาธารณสุข และหมวดสันทนาการ บ่งชี้ภาคบริการสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อัตราว่างงาน เดือน มี.ค. 57 คงอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ของกำลังแรงงานรวม จากการที่มีแรงงานกลับเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงาน (Participation rate) อยู่ที่ร้อยละ 63.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 63.0 บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น
China: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -18.1 ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 57 มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากปัจจัยฐานสูง เพราะการปลอมเอกสารการส่งออกเพื่อโอนย้ายเงินตราในช่วงต้นปี 56 สำหรับมูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 57 มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ จากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวค่อนข้างมาก ทำให้ดุลการค้า เดือน มี.ค. 57 กลับมาเกินดุลอีกครั้งที่ 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากขาดดุลในเดือนก่อนหน้าถึง -2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ
Japan: mixed signal
  • เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 57 ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำที่ช่วงร้อยละ 0-0.1 ต่อปี เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า BOJ อาจออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมภายในเดือน ก.ย. 57 นี้
Taiwan: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 7.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งได้รับอานิสงส์จากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.9 ในเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้า เดือน มี.ค. 57 เกินดุล 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 2.6 ในเดือนก่อนหน้า
Indonesia: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 24.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 21.2 จากยอดขายอุปกรณ์สื่อสารที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 39.0 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 118.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 116.2 จุด และเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 55 จากแนวโน้มเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน เม.ย. 57 ไว้ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี จากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเข้าใกล้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3.5-5.5 ในปี 57 ประกอบกับแนวโน้มการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง โดยล่าสุดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสที่ 4 ปี 56 ขาดดุล -4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงอย่างมากจากไตรมาสก่อนที่ขาดดุล -8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Malaysia: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออกของมาเลเซีย เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 12.2 ผลจากการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวร้อยละ 23.6 ในส่วนมูลค่าการนำเข้าก็ขยายตัวร้อยละ 9.5 3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 7.2 จากการนำเข้าสินค้าในหมวดพลังงานเชื้อเพลิงที่ขยายตัวร้อยละ 39.2 โดยสรุป ดุลการค้าของมาเลเซีย เดือน ก.พ. 57 เกินดุล 10.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นการเกินดุลสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 55 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากภาคการผลิตที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 9.8 เป็นสำคัญ
Philippines: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 57 ขยายตัวร้อยละ 24.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 และเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ขยายตัวมากถึงร้อยละ 67.2 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
Australia: mixed signal
  • อัตราว่างงาน เดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.81 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.05
South Korea: mixed signal
  • อัตราว่างงาน เดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.5 จากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมและภาคบริการสังคมที่เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน มี.ค. 57 ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 จากเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ค่อนข้างต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออก ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของปี 57 ที่ขยายตัวเร่งขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

Weekly Financial Indicators

  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากปรับลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ ด้วยมูลค่าซื้อขายเบาบางโดยดัชนีฯ ณ วันที่ 10 เม.ย. 57 ปิดที่ 1,389.56 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 25,195 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ในขณะที่นักลงทุนสถาบันและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ โดยนักลงทุนเริ่มคลายกังวลต่อท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 10 เม.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 3,915.9 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับตัวลดลง 1-10 bps จากการเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ผลจากการเผยแพร่รายงานการประชุม FOMC ที่ทำให้ความเสี่ยงขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเริ่มลดลง โดยระหว่างวันที่ 8 - 10 เม.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 7,064.7 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 10 เม.ย. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.77 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ เยน ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน ในขณะที่เงินยูโรอ่อนค่าลง ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระดับที่น้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ -0.21 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 10 เม.ย. 57 ปิดที่ 1,318.42 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,296.04 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ