รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 30, 2014 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2557

Summary:

1. อิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง คาดปริมาณการผลิตรถยนต์ของไทยปี 57 หดตัวร้อยละ -15.7

2. GDP ของฟิลิปปินส์ ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน เม.ย. 57 หดตัวร้อยละ -4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. อิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง คาดปริมาณการผลิตรถยนต์ของไทยปี 57 หดตัวร้อยละ -15.7
  • อิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง คาดการตัวเลขปริมาณการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 57 อยู่ที่ 2.1 ล้านคัน หรือหดตัวร้อยละ -15.7 จากปีก่อน โดยพิจารณาจากยอดการผลิตรถยนต์ เดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ 1.3 แสนคัน หรือหดตัวร้อยละ -25.6 และความต้องการในประเทศที่ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ยังคงมีปัจจัยบวกจากการผลิตของไทยที่มีมาตรฐานทำให้ไทยยังคงเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ของโลก และตลาดการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามความต้องการรถกระบะในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะจากออสเตรเลีย แอฟริกา และอเมริกาใต้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในปี 57 มีแนวโน้มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ จากการเร่งผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศในช่วงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่หมดลง และการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์คาดว่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น จากฐานที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และอุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังคงมีต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกยานยนต์ 4 เดือนแรกของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการส่งออกยานยนต์ไปยังตะวันออกกลางยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง
2. GDP ฟิลิปปินส์ ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์รายงาน GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 7.6 เป็นสำคัญ ขณะที่ภาคบริการที่คิดเป็นร้อยละ 56 ของ GDP ขยายตัวร้อยละ 6.8 เร่งจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 6.7 เพียงเล็กน้อย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ GDP ของฟิลิปปินส์ขยายตัวชะลอลงในไตรมาสที่ 1 ปี 57 นั้น มีสาเหตุมาจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่พัดเข้าฟิลิปปินส์ในช่วงเดือน พ.ย. 56 ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของฟิลิปปินส์ ดังสะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ปี 57 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 15.2 หากพิจารณาในด้านอุปสงค์ของ GDP จะพบว่า มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนซึ่งคิดเป็นร้อยละ 69.4 ของ GDP ที่ขยายตัวชะลอลง โดยขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอลงเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ขณะที่ภาคส่วนอื่นๆ มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นอย่างชัดเจน เช่น การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 2.0 จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.4 ภาคการลงทุนรวมและการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นในระดับสูงที่ร้อยละ 11.2 และ 12.6 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.0 และ 3.2 ตามลำดับ ทั้งนี้คาดว่าปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์สามารถกลับมาขยายตัวในระดับสูงได้ ขึ้นอยู่กับการเร่งฟื้นฟูความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นของทางการเป็นสำคัญ
3. ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน เม.ย. 57 หดตัวร้อยละ -4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน เม.ย. 57 กลับมาหดตัวต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงมากจากเดือนก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 11.0 นับเป็นการหดตัวของยอดขายสินค้าในทุกหมวด ภายหลังการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนดังกล่าว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการค้าปลีกญี่ปุ่นที่กลับมาหดตัวในเดือน เม.ย. 57 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของญี่ปุ่นจากเดิมร้อยละ 5.0 เป็นร้อยละ 8.0 ที่เริ่มปรับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 57 ส่งผลให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นเร่งใช้จ่ายเพื่อการบริโภคไปในช่วงก่อนหน้าแล้ว สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 1 ปี 57 ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 57 ยังมีประเด็นสำคัญที่ควรติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อเร่งการใช้จ่ายจากรัฐบาลญี่ปุ่น (2) การปฏิรูปของโครงสร้างทางเศรษฐกิจกิจที่ยังคงไม่มีความชัดเจน และ (3) ประเด็นการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งคาดการณ์ว่าจะปรับลดลงในเดือน มิ.ย. 57 เพื่อเป็นปัจจัยหนุนต่อการลงทุนภาคเอกชนภายในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.3 คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ