รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 4, 2014 11:10 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ในเดือน มิ.ย. 57 ปีงบประมาณ 2557 หดตัวร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือน มิ.ย. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน มิ.ย. 57 กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -14.0
  • สินเชื่อเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เงินฝากสถาบันการเงินขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 5.2
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มิ.ย. 57 เกินดุล 1,838.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไต้หวัน ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เมื่อวันที่ 29-30 ก.ค. 57 FOMC ได้มีมติปรับลดมาตรการ QE ลงอีก 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน โดย NBS ญ เดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด

Indicator next week

Indicators                       Forecast   Previous
Jul :  Motorcycle Sale (%yoy)      -15.0     -15.6
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่หดตัวลงทั่วทุกภาคของประเทศ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวัง การใช้จ่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์
Economic Indicators: This Week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ในเดือน มิ.ย. 57 ปีงบประมาณ 2557 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 164.6 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในเดือน มิ.ย. 57 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 154.4 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.5 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 135.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.2 (2) รายจ่ายลงทุน 18.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -5.8 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 35.6 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 5.5 พันล้านบาท และรายจ่ายอื่นของกระทรวงกลาโหม 3.8 พันล้านบาทเป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 10.1 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -9.0 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี งปม. 57 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงปม. เบิกจ่ายได้ 1,720.0 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 68.1 ของวงเงินงปม.
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มิ.ย. 57 พบว่า ดุลงบประมาณเกินดุลจำนวน 159.7 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -13.1 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุลจำนวน 146.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 57 งบประมาณขาดดุลจำนวน -340.8 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -60.8 พันล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -401.7 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ 391.3 พันล้านบาท
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากมาตรการดูแลค่าครองชีพ ประกอบกับสภาพอากาศที่เหมาะสมทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาพืชผักผลไม้ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 7 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 สะท้อนถึงเสถียรภาพด้านราคาที่ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ ในเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การลงทุนของภาคเอกชนที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในปี 57 โดยปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ตามการขยายตัวของเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (น้ำหนักร้อยละ 13.2 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) ที่ขยายตัวร้อยละ 50.0 ขณะที่ยอดขายเหล็กเส้น ข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 64.4) ที่หดตัวร้อยละ -1.4 และเหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 11.2) ที่หดตัวร้อยละ -14.7 เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมในช่วง 6 เดือนแรกปี 57 ขยายตัวร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน มิ.ย. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ยานยนต์ เครื่องแต่งกาย และอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องประดับจากคำสั่งซื้อที่ลดลง และอุตสาหกรรมยานยนต์จากการลดลงของตลาดภายในประเทศเป็นสำคัญ ประกอบกับปัจจัยฐานของปีก่อนที่การเร่งผลิตตามโครงการรถยนต์คันแรก ในส่วนของอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่อดัชนีในเดือนนี้ คือ อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงระบบทีวีเป็นระบบดิจิตอล นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นที่ขยายตัวได้ คือ ปิโตรเลียมและพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแบบเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าและขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) พบว่า หดตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -2.7
  • การส่งออกในเดือน มิ.ย. 57 มีมูลค่า 19,842.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 จากการขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 12.3 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 ตามการขยายตัวของข้าว มันสำปะหลังเป็นสำคัญ สอดคล้องกับสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 3.5 ตามการขยายตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่ร้อยละ 3.4 3.2 และ 3.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.2 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -0.6 และปริมาณการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การนำเข้าในเดือน มิ.ย. 57 มีมูลค่า 18,049.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -14.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.3 ตามการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวร้อยละ -29.9 และ -12.2 ตามลำดับ รวมถึงยานยนต์ที่หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -23.1 ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 และปริมาณการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -14.6 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และจากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 57 เกินดุล 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • สินเชื่อเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 โดยหากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์หดตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่สินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น กอปรกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณดีขึ้น แม้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ส่งผลให้คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 57 และส่งผลให้คาดว่าสินเชื่อกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นได้ในระยะต่อไป
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามเงินฝากที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เร่งขึ้น ขณะที่เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ชะลอลงต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ผู้ฝากจึงอาจเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์การออมประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ขณะที่ การแข่งขันระดมเงินฝากโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ยังมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อรักษาฐานลูกค้า (โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาว) ทั้งนี้ คาดว่าสถาบันการเงินจะเริ่มมีการระดมทุนผ่านเงินฝากเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะต่อไป ตามความต้องการสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่คาดว่าปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มิ.ย. 57 เกินดุล 1,838.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -664.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุล 3,863.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการหดตัวของการนำเข้าในระดับสูง โดยเฉพาะในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวตามการนำเข้าน้ำมันดิบที่หดตัวสูงเนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นขนาดใหญ่ ในขณะที่การส่งออกกลับมาขยายตัว จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวตลอดจนปัจจัยฐานต่ำในบางหมวดสินค้า ขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิขาดดุล -2,024.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายรับภาคท่องเที่ยวที่ลดลง และอีกทั้งเป็นฤดูกาลส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติ ทั้งนี้ ในช่วง ครึ่งแรกของปี 57 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8,757.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ค. 57 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -15.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -15.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่หดตัวลงทั่วทุกภาคของประเทศ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวัง การใช้จ่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

GDP ไตรมาส 2 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 (ตัวเลขปรับปรุง) หรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว จะขยายตัวร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อนหน้า (หรือร้อยละ 4.0 จากไตรมาสก่อนหน้า ต่อปี) ผลจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้น หลังจาก ประสบปัญหาอากาศหนาวเย็นผิดปกติในช่วงไตรมาสก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ระดับ 90.9 จุด สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 86.4 จุด (ตัวเลขปรับปรุง) จากดัชนีภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและคาดการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้น เมื่อวันที่ 29-30 ก.ค. 57 FOMC ได้มีมติปรับลดมาตรการ QE ลงอีก 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เหลือ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

Japan: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน เมื่อดูในรายละเอียดพบว่าสินค้าในหมวดเครื่องใช้ภายในบ้าน ยานยนต์ และเครื่องนุ่งห่มที่หดตัวเป็นสำคัญ ส่วนอัตราว่างงาน เดือน มิ.ย. 57 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม จากร้อยละ 3.5 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราส่วนตำแหน่งงานต่อจำนวนผู้สมัครงานยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.10 เท่า จากระดับ 1.09 ในเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นการผลิตทุกหมวดสินค้าที่หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเป็นสำคัญ

China: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม โดย NBS เดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 51.0 จุด ในเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือน สอดคล้องกับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม โดย HSBC เดือน ก.ค. 57 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.7 จุด เช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือน สะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 2 ปี 57

Eurozone: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ -8.4 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานที่ลดลงต่อเนื่อง บ่งชี้ความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อัตราว่างงาน เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 11.5 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 11.6 จากอัตราการว่างงานในประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การว่างงานดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอัตราการว่างงานวัยเยาวชน ซึ่งอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 23.1 โดยเมื่อวิเคราะห์จำแนกรายประเทศ พบว่าอัตราการว่างงานวัยเยาวชนในสเปนและกรีซ ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 50 สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

Taiwan: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 1.5 ปี จากการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศและการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวดีตามทิศทางเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่ปรับตัวดีขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 55.8 จุด อยู่ในระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี จากดัชนีย่อยคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกและดัชนีย่อยการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

Singapore: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.9 จากการผลิตสินค้าในหมวดเคมีภัณฑ์ที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 ส่วนอัตราว่างงาน ไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ของกำลังแรงงาน คงที่จากไตรมาสก่อนโดยอัตราว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะตลาดแรงงานตึงตัวที่ยังคงดำเนินต่อไป

Vietnam: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.4 จากการส่งออกคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวร้อยละ -12.7 ขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 15.9 จากการนำเข้าปุ๋ยเคมีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวร้อยละ -49.7 และ -5.1 ตามลำดับ โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ก.ค. 57 ขาดดุล -250.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Hong Kong: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากยอดขายเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าคงทนที่หดตัวเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง

South Korea: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากการส่งออกไปยังยูโรโซน (คู่ค้าอันดับที่ 5) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 11.5 เป็นสำคัญ มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกันมาอยู่ที่ร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยดุลการค้ายังคงเกินดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 49.3 จุด ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่ยังคงสะท้อนภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากดัชนีย่อยผลผลิตและดัชนีย่อยธุรกิจใหม่ที่หดตัวลดลง กอปรกับดัชนีย่อยสินค้าคงค้างลดลงอย่างมาก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และสาธารณูปโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคและเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง วันที่ 31 ก.ค. 57ธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 31 ก.ค. 57 ปิดที่ 1,502.39 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 54,685.74 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ จากความกังวลของตลาดภายหลังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ในภาคพลังงานและการเงิน ตลอดจนปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของอาร์เจนตินา ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 28 - 31 ก.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 4,404.34 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ จากการประมูลพันธบัตรรัฐบาล รุ่น Benchmark อายุ 30 ปีในวันที่ 30 ก.ค. 57 ที่ผ่านมา และผลการประชุม FOMC ที่เป็นไปตามที่ตลาดคาด ทำให้ระหว่างวันที่ 28 - 31 ก.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิถึง 1,179.0 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 31 ก.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.82 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ยกเว้นค่าเงินหยวนและเงินวอนที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.45 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 31 ก.ค. 57 ปิดที่ 1,282.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งในต้นสัปดาห์ปิดที่ 1,303.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ