รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 8, 2014 11:26 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 กันยายน 2557

Summary:

1. สภาอุตฯ ห่วงกำลังซื้อแผ่ว ฉุดยอดผลิตรถไม่ถึงล้านคัน

2. ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ 43.8

3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวมากที่สุดในรอบ 5 ปี herek 69024

1. สภาอุตฯ ห่วงกำลังซื้อแผ่ว ฉุดยอดผลิตรถไม่ถึงล้านคัน
  • นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 57 ยังคงตามเป้าหมายเดิม คือ 2.2 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์ เพื่อการส่งออก 1.2 ล้านคัน การผลิตรถยนต์ เพื่อจำหน่ายในประเทศ 1 ล้านคัน ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นห่วงสถานการณ์การผลิตรถยนต์ในประเทศว่าจะได้ถึง 1 ล้านคัน ได้หรือไม่ เพราะกำลังซื้อในประเทศ ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น แม้ภาครัฐจะกระตุ้นเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้ เช่น จ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าว การกระตุ้นเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ยังไม่ส่งผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจได้มากนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กำลังซื้อภาคประชาชนในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตามการบริโภครถยนต์จะยังคงทรงตัว โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบริโภครถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าประเภทสินค้าคงทนได้มีการเร่งการบริโภคไปแล้วก่อนหน้านี้ในช่วงนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ทั้งนี้จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่าในช่วง 7 เดือนแรกปี 57 ยอดขายรถยนต์นั่งมีจำนวน 213,391 คัน เป็นการหดตัวร้อยละ -46.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์มีจำนวน 297,044 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -32.4 และจากยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศทั้งหมด อยู่ที่ 510,178 คัน หรือหดตัวร้อยละ -39.2 ดังนั้น หากยังคงเป้ายอดขายเดิมที่ 1 ล้านคัน ในช่วง 5 เดือนที่เหลือต้องมียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 97,965 คัน
2. ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ 43.8
  • SET ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index : KR ECI) ในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ 43.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 41.8 และถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน ภายหลังจากแนวทางการดูแลค่าครองชีพ และทิศทางราคาพลังงานในประเทศที่ทยอยปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องตามราคาในตลาดโลก และการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีส่วนช่วยบรรเทาความกังวลต่อสถานการณ์ราคาสินค้าและภาวะค่าใช้จ่ายของครัวเรือนลง อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีฯ ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนว่า ผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะรายจ่ายในส่วนที่จะก่อให้เกิดภาวะหนี้ผูกพันต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับสูงสุดในรอบ 13 เดือน เช่นเดียวกัน สะท้อนถึงประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 57 เนื่องจากตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น ประกอบกับคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกมีทิศทางดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น และจะส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าในปี 57 การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ (-0.2) - 0.8) ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57
3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวมากที่สุดในรอบ 5 ปี
  • เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ หดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -7.1 แบบ annualized ซึ่งถือเป็นอัตราการหดตัวที่มากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 52 สาเหตุหลักเนื่องมาจากการขึ้นภาษีการขาย หรือ Sales tax เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้การบริโภคของภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 2 หดตัวถึงร้อยละ -5.1 จากไตรมาสก่อนหน้า และน่าจะยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องในเดือน ก.ค. และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลเครื่องชี้ล่าสุด เช่น ยอดค้าปลีกที่ยังคง หดตัว และยอดขายรถยนต์ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี ประกอบกับด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ -5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเช่นกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขึ้นภาษีมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอยู่มาก ทำให้ความเป็นไปได้ของแผนที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะขึ้นอัตราภาษีอีกครั้งจากร้อยละ 8 ในปัจจุบัน ไปเป็นร้อยละ 10 ในช่วงปลายปี 58 มีความเป็นไปได้น้อยลง ในทางกลับกันอาจได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเร็วๆนี้ ในรูปแบบของนโยบายการคลังซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ยังได้แรงส่งจากการสะสมสินค้าคงเหลือของภาคเอกชน และการค้าระหว่างประเทศที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินเยนที่อ่อนและเศรษฐกิจคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ